วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ บน Social Network ด้วยแง่มุมจิตวิทยา (ตอนที่ 3)


เรื่องโดย Kafaak (@Kafaak)
นักเขียนอิสระนิตยสารต่างๆ อาทิ PC Today, PC World, On Mobile และ Blogger ด้านมือถือชื่อดัง http://kafaak.wordpress.com


สังคมออนไลน์ แม้ว่าจะอยู่ในโลกดิจิตอลที่มีแค่ 0 และ 1 แต่ก็มีคุณลักษณะ คล้ายคลึงกับสังคมในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่หลายประการ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวตนบนโลกดิจิตอลเหล่านั้น สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ (แม้ว่าหลายๆ คนอาจไม่ใช่คนธรรมดา) ดังนั้น แนวคิดด้านพฤติกรรมศาสตร์ และจิตวิทยาสังคม จึงสามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของสังคมออนไลน์ได้ ซึ่งผมเองก็ขอหยิบยกเอาปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้มาเล่าสู่กันอ่าน ให้ผู้อ่านบล็อกของผมได้ทราบกัน จนถึงตอนนี้ก็เป็นตอนที่สามแล้ว
ในตอนที่สามนี้ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากบล็อกของท่านอาจารย์ที่ผมเคารพยิ่งท่านหนึ่ง คือ รองศาสตราจารย์ สิทธิโชค วรานุสันติกูล ซึ่งท่านได้เขียนเอาไว้คือ “Basking in the Reflected Glory of Others (BIRG) : ปรากฏการณ์ขอเกาะกระแสคนดัง
glory-manutd09-2
แรงบันดาลใจของผม มาจากตอนที่อาจารย์พูดถึงปรากฏการณ์ที่นักจิตวิทยาสังคม คือ Robert B. Cialdini และคณะ ได้ทำการทดลองภาคสนามเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 โดยได้ให้ผู้ช่วยของเขาไปยืนตามบริเวณต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ในวันรุ่งขึ้นหลังการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล ของทีมมหาวิทยาลัยของตนเอง
ทำไมถึงทำอย่างนั้น?
Cialdini ให้ผู้ช่วยของเขาบันทึกการแต่งกายของนักศึกษา โดยดูว่าจะมีการแต่งกายเพื่อที่แสดงว่ามีความเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับทีม หรือมหาวิทยาลัยหรือไม่ เช่น ใส่เสื้อทีม ใช้ของใช้ต่างๆ ที่มีโลโก้มหาวิทยาลัย โลโก้ทีม หรือตัว Mascot (สัตว์นำโชค)
ผลการทดลองพบว่า หากทีมชองมหาวิทยาลัยชนะ วันรุ่งขึ้นนักศึกษาจะแต่งกาย และใช้ของใช้ที่บ่งบอกถึงทีมมากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีที่ทีมแพ้ นอกจากนี้ หากไปสอบถามนักศึกษาว่าผลการแข่งขันเป็นอย่างไร หากทีมชนะพวกเชามักตอบว่า We won (พวกเราชนะ) แต่หากทีมแพ้ นักศึกษามักตอบว่า They lost (พวกเขาแพ้)
อาจารย์สิทธิโชค กล่าวในบล็อกว่า “ซิอัลดินีสรุปผลการทดลองภาคสนามนี้ว่า คนเราต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่น ถ้าหากว่าตนเองทำไม่ได้ก็จะใช้วิธีการพ่วงเข้าไปกับกลุ่มคนที่ได้รับชัยชนะหรือประสพความสำเร็จ”
ผมอ่านบล็อกของอาจารย์จนจบ แล้วก็กลับมานั่งนึกๆ ดู (หม่ำชุด Whopper เพิ่มชีสและเบคอนไปพลางๆ) ว่า มันคุ้นๆ ปรากฏการณ์ทำนองนี้บนโลกสังคมออนไลน์ไหม แล้วผมก็พบว่า มันมีความคล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมครับ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีความต้องการที่จะเป็นที่ยอมรับของคนอื่น หรือมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทฤษฎีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับความต้องการ (Needs) หลายต่อหลายทฤษฏีก็มีพูดถึงเยอะครับ เช่น ความต้องการลำดับขั้นของ Abraham Maslow, Learned Needs ของ David McClelland เป็นต้น
บนโลกของสังคมออนไลน์ นี่ก็มีปรากฏการณ์ที่คล้ายๆ คลึงกันนี้เหมือนกันนะครับ โดยจะมาในรูปแบบ …
  • หลายๆ คนเลือกที่จะเป็น Follower (กรณีที่เป็น Twitter) หรือ Friend (กรณีที่เป็น Facebook) ของเหล่าดาราหรือผู้มีชื่อเสียง (ที่เรียกว่า Celebrity)
  • และหากเป็นไปได้ ถ้าเกิด Celebrity เหล่านั้นมาเป็น Follower (หมายถึงมาติดตามข้อความที่เราโพสต์บน Twitter) หรือ Friend (กรณีของ Facebook) จริงๆ ขึ้นมาละก็ แหม ยิ่งดีเลยทีเดียว
  • พอมีเรื่องราวที่เป็นกระแสขึ้นมา ก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย … แต่ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ชัดเจนก่อนครับ หลายคนมีเจตนาที่จะร่วมแบ่งปันจริงๆ คนพวกนี้จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่ก็มีอีกหลายคนที่ขอแค่ให้มีชื่อโผล่ ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากคนเหล่านี้จะไม่ค่อยมีสาระสำคัญอะไรมากนัก (ก็เขาต้องการแค่ชื่อของตัวเองติดโผว่าได้มาเอี่ยวเรื่องนี้บ้างเท่านั้นเอง)
ตัวอย่างในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นถึงความอยากเกาะกระแสคนดัง ก็เช่น การประมูลในเว็บ www.twitchange.com ครับ ที่ให้เราประมูลเพื่อหาผู้ชนะ ซึ่งจะได้เหล่า Celebrity ไป Follow บน Twitter และมีเงื่อนไขว่าจะมีการโพสต์ข้อความถึงผู้ชนะประมูล และมีการ Retweet ข้อความที่ผู้ชนะประมูลโพสต์เอาไว้ด้วย
twitchange
บางท่านอาจจะคิดว่ามีพวกคนดัง หรือเกาะกระแสที่กำลังเป็นข่าวแล้วจะได้อะไร?
ในกรณีที่หากมีคนดังมาติดตามเราด้วยแล้ว เช่น เป็น Follower ในบริการ Twitter ของเรา อื่นใดเลยในรายชื่อของ Follower เราก็จะมีชื่อของเหล่า Celebrity เหล่านั้นไว้โชว์โก้ๆ แน่นอน และหากมีเยอะคนอื่นๆ ก็จะคิดแน่ๆ ว่าไอ้หมอนี่มีอะไรดี … โดยเฉพาะหาก Celebrity ที่ดังๆ คนนั้นไม่ค่อยได้ติดตามใครยิ่งทำให้เกิดชวนให้สงสัยมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ หากเขามาติดตามเราแล้วมีการเอ่ยถึงเราด้วย หรือเอาข้อความที่เราโพสต์ไปพูดต่อ ยิ่งกระตุ้นให้คนอื่นๆ ที่ติดตามเหล่า Celebrity เหล่านี้อยู่ต้องมาคิดซ้ำว่า เอ๊ะ! หมอนี่มีดีอะไร และอาจลงเอยด้วยการที่เราจะได้ผู้คนมาติดตามมากขึ้นด้วย
ถามว่าได้ผลจริงไหม … ไม่มากก็น้อยละครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่วิจารณญาณของเหล่าผู้ติดตามคนดังเหล่านั้นด้วยว่าเลือกติดตามคนอื่นด้วยเหตุผลอะไร แต่คิดแบบง่ายๆ สมมติว่า Justin Bieber (คนนี้ดังมาก มีผู้ติดตามใน Twitter อยู่ราวๆ 6 ล้านกว่าคน) พูดถึงเรา แล้วมี Follower เขาราวๆ 0.1% เลือกที่จะติดตามเราด้วย (เพราะคิดว่าไอ้เราต้องมีอะไรดี ไม่งั้นเขาคงไม่พูดถึงเรา) นั่นก็ 6,000 คนแล้วนะนั่น ผมเล่น Twitter มาสองปี ยังมีคนติดตามไม่ถึง 3 พันเลย ฮาฮา
แต่ถึงจะได้ผลดีก็เถอะครับ อยากบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว การที่มีคนมาสนอกสนใจเรามากขึ้น หลังจากที่ไปเกาะติดคนดัง ไปเกาะติดกระแสเด่นประเด็นร้อน มันยั่งยืนไหม? สุดท้ายแล้วมันก็แค่ช่วยให้เรารู้สึกว่าเราเป็นที่ได้รับการยอมรับ หรือก็คือ ตอบสนองต่อความต้องการทางจิตใจ (Psychological Needs) ของเราได้ แต่ตัวเราก็ยังคงเป็นตัวเราเองอยู่ดังเดิม ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุดแล้วคนที่บ่มิไก๊ ก็ยังบ่มิไก๊อยู่ดีครับ อยากให้พึงระลึกถึงตรงนี้เอาไว้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น