วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ บน Social Media ด้วยแง่มุมจิตวิทยา (ตอนที่ 4)


เรื่องโดย Kafaak (@Kafaak)
นักเขียนอิสระนิตยสารต่างๆ อาทิ PC Today, PC World, On Mobile และ Blogger ด้านมือถือชื่อดัง http://kafaak.wordpress.com
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมอุบัติเหตุรถเก๋งซีวิคกับรถตู้โดยสาร ซึ่งส่งผลให้มีคนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจำนวนมาก เรื่องนี้มันอาจจะจบลงแค่เป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งในรอบปี 2553 นี้ หากไม่ใช่ว่ามันเกิดมีข้อมูลบางอย่างที่เผยแพร่กันบนโลก Social Network ซึ่งพาดพิงถึงเด็กสาววัย 16 ทายาทนามสกุลดังที่เป็นผู้ขับรถเก๋งซีวิค และรูปภาพรูปหนึ่ง (ขอสงวนสิทธิ์ไม่หามาลงให้นะครับ)
กระแส Social Media ที่มีต่อเรื่องนี้ และต่อเด็กสาวคนนั้นแรงมากทีเดียว ผมไม่ขอพูดถึงในรายละเอียด แต่ขอบอกได้แค่ว่ามันสื่อให้เห็นถึงความเกลียดชังที่มีต่อเด็กสาววัย 16 นี้มาก ในความเห็นของผม กระแสดังกล่าวเริ่มแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายๆ คนเริ่มมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์การล่าแม่มดไป
witch_hunting
 เหตุที่ว่าเป็นการล่าแม่มด ก็เพราะว่ากลุ่มคนที่แสดงความจงเกลียดจงชังเด็กสาวคนนั้น เมื่อทราบว่าใครน่าจะเป็นเด็กคนนั้น ก็จะเข้าไปรุมถล่มกัน จนเป็นเหตุให้ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ 2 คนบน Twitter โดนเข้าไปเต็มๆ จากความเข้าใจผิดเล็กๆ ที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากคนคนหนึ่งที่ต้องการทวีตข้อความแซวรูปที่เกิดขึ้น โดยทำเป็นว่าเป็นข้อความที่เด็กสาววัย 16 คนนั้นเป็นคนส่ง
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง? ทำไมกระแสบน Social Media มันถึงได้กระพือได้รุนแรงขนาดนั้นไปได้ ถึงขนาดที่ไปคุกคามผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพียงเพราะความเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ … ผมว่าแนวคิดทางจิตวิทยาสังคมมีคำตอบครับ
ในทางจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) นั้นมีการศึกษาเรื่องอิทธิพลของกลุ่ม (Group Influence) ที่มีต่อพฤติกรรมและความคิดของบุคคลอื่นๆ ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเอามาใช้อธิบายเหตุการณ์นี้ได้ก็คือ Group Polarization ครับ … นิยามของ Group Polarization ก็คือ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มได้มีการถกประเด็นพูดคุยกันแล้ว มันนำพาให้คนในกลุ่มนั้นๆ มีความคิดความเชื่อไปในแนวทางที่สุดขั้ว (Extreme) มากขึ้น
การศึกษาเรื่องของ Group Polarization นั้นมีมากมายครับ ยกตัวอย่างเช่น
  • Moscovici และ Zavalloni (1969) สังเกตพบว่าภายหลังจากที่ได้มีการอภิปรายกันในกลุ่ม นักศึกษาฝรั่งเศสที่มีความคิดที่ดีต่อประธานาธิบดีของตนก็จะมีความคิดที่ดีเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความคิดด้านลบที่มีต่อชาวอเมริกันก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อย Glen Whyte (1933) ก็พบว่ากลุ่มนั้นขยายผลของปรากฏการณ์ “ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ (Too much invested to quit)” จนกระทั่งก่อให้เกิดการลงทุนที่สูญเสียอย่างมาก
แน่นอนว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ บล็อก หรือแชทรูม และล่าสุดก็ Social Media Services อย่าง Twitter หรือ Facebook ต่างก็เป็นสื่อกลางให้คนที่มีความเห็นคล้ายๆ กันได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น Robert Write (2003) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “E-mail, Google และแชทรูม ทำให้คนกลุ่มเล็กๆ สามารถปลุกระดมเหล่าผู้คนที่มีความเห็นคล้ายๆ กัน ทำให้ความเกลียดชังที่กระจัดกระจายอยู่ตกผลึก และนำไปสู่การใช้กำลังได้ง่ายขึ้น”
จากความคิดที่คล้ายๆ กัน เมื่อมารวมกันเป็นกลุ่มแล้ว มันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ผมเริ่มตั้งข้อสังเกตต่อว่า หลายๆ คนเริ่มกล้าที่จะเปิดเผยความเห็นของตนออกมามากขึ้น ถ้อยคำหยาบคาย และรุนแรงเริ่มก่อตัว อันเป็นผลมาจาก Group Polarization ด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งผมว่าต้องอธิบายด้วย Diffusion of Responsibility หรือการกระจายความรับผิดชอบครับ
จริงๆ แนวคิดนี้นักจิตวิทยาเขาใช้อธิบาย 2 ปรากฏการณ์หลักๆ คือ Bystander Effect กับ Social Loafing ครับ
  • Bystander Effect ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในปี 1968 ในการทดลองของ John Darley และ Bibb Latané ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในกรณีที่เกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นมา หากมีคนกลุ่มใหญ่ๆ อยู่ที่เกิดเหตุ ความช่วยเหลืออาจมาถึงล่าช้าลง กรณีที่สุดคลากสิกที่สุดคือเหตุน่าสลดของ Catherine (Kitty) Genovese ซึ่งถูกคนร้ายแทงด้วยมีด แต่จากนั้นคนละแวกนั้นได้ยินเสียงอึกกะทึกก็โผล่ออกมาดูทางหน้าต่าง หนึ่งในนั้นตะโกนไล่คนร้ายไป แต่ที่ไม่น่าเชื่อเลยก็คือ ไม่มีใครมาช่วยเธอหรือแจ้งตำรวจ จนกระทั่งคนร้ายกลับมาอีกรอบและฆ่าเธอจนได้ (นอกเหนือจากกรณีนี้แล้ว ก็ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสลดอีกมากที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่เพราะ Bystander Effect แท้ๆ ลองอ่าน 10 Notorious Cases of Bystander Effect ดูได้ครับ) … เหตุที่ไม่มีใครไปช่วยเหลือ Kitty เลยก็เพราะว่าไม่มีใครอยากไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และต่างก็คิดว่าคนใดคนหนึ่งในพวกเขา (ซึ่งเห็นกันตั้ง 38 คน) น่าจะแจ้งตำรวจแล้ว
  • Social Loafing จริงๆ ถ้าให้แปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือ “การกินแรงคนอื่น” นั่นแหละครับ มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีงานหนึ่งเข้ามา แล้วงานนั้นไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และไม่สามารถแบ่งงานกันทำได้อย่างชัดเจน ต่างคนต่างก็จะออมแรงกันเพราะรู้ดีว่าสุดท้ายแม้งานไม่เสร็จ ก็จับมือใครดมไม่ได้ว่าใครเป็นคนต้นเหตุ
ทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ ในแง่ของความคิดที่ว่า ตนเองไม่ใช่ผู้รับผิดชอบทั้งหมด หากเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นมา … เช่นเดียวกัน เมื่อมีคนจำนวนมากๆๆๆ ไปโพสต์ข้อความประณามด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะคิดว่าหากเกิดการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีทางกฎหมายขึ้นมาจริงๆ ความผิดก็จะกระจายอยู่กับคนที่ร่วมกันโพสต์ข้อความ ซึ่งมีจำนวนมาก ความรับผิดชอบก็จะแบ่งๆ กันไปด้วยเช่นกัน
และเมื่อ Group Polarization กับ Diffusion of Responsibility มารวมพลังสองประสานกันแล้ว จึงไม่น่าแปลกอะไรเลย ที่กระแสในแง่ลบบน Social Media จะกระพือไปได้เร็วและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็น … ตรงนี้ผมอยากขอแนะนำว่าให้พึงตริตรองให้รอบคอบก่อนที่จะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นใดๆ ข้อความบน Social Media ในเหตุการณ์แบบนี้ ชัดเจนว่าจะเป็นข้อความแสดงอารมณ์ ซึ่งแน่นอนว่าจะเข้าไปกระตุ้นอารมณ์ของเราให้คล้อยตาม (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรามีอารมณ์ไปในทิศทางนั้นอยู่แต่เดิมแล้ว) … พึงระลึกเอาไว้เสมอว่า สิ่งที่เราจะโพสต์ไป หรือจะกระทำไปนั้น สามารถส่งผลกลับมาหาเราในอนาคตได้ทุกเมื่อ เหมือนกรณีต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในบทความ ภาพหลุด-คลิปฉาวยังนิยม เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ คิดก่อนโพสต์ ของหนังสือพิมพ์เดลี่นิวส์ครับ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อความที่เราโพสต์ไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ หรือเอาสะใจเข้าว่า หรือตามกระแสเขาไปเรื่อยๆ นั้น บางครั้งมันอาจเปลี่ยนทั้งชีวิตของเรา และของคนอื่นได้เลยนะครับ
ข้อมูลอ้างอิง
  • Darley, J. M. & Latané, B. (1968). Bystander intervention in emergencies: Diffusion of responsibility.Journal of Personality and Social Psychology, 8, 377-383.
  • Moscovici, S., & Zavalloni, M. (1969). The group asa polarizer of attitudes. Journal of Personality and Social Psychology, 12, 124-135. (p. 278)
  • Whyte, G. (1993). Escalating commitment in individual and group decision making: A prospect theory approach. Organizational Behavior and Human Decision Processes, 54, 430-455. (p. 278)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น