วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์ด้วย Mobile Tag

เราคงเคยเห็นโฆษณาตามสื่อต่างๆ ที่มีการทำโค๊ดสีดำสีขาวแบบที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมมาอยู่ในโฆษณานั้นด้วย ซึ่งโค๊ดเหล่านั้นเราเรียกว่า ทูดีบาร์โค๊ด (2D Bar Code) หรืออีกชื่อที่คุ้นหูกันก็คือ คิวอาร์โค๊ด (QR Code) นั่นเอง ซึ่งพวกนี้โดยรวม ๆ เราจะเรียกมันว่า Mobile Tag หรือป้ายสำหรับโทรศัพท์มือถือครับ
บางท่านอาจเคยได้ลองนำเอาโทรศัพท์มือถือไปสแกนโค๊ดนี้เล่น ๆ ดูบ้าง ซึ่งเมื่อได้ลองสแกนข้อมูลดูแล้ว เราจะได้รับข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้นกว่าที่ได้รับข้อมูลจากป้ายโฆษณานั้น ๆ เช่นได้โปรโมชั่น หรือได้รายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นเป็นต้น ซึ่งการใช้งาน QR Code เหล่านี้ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ใช้เชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันโดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นตัวกลางทั้งสิ้น
การวิวัฒนาการของป้ายสำหรับโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ มีมาตั้งแต่บาร์โค๊ดธรรมดาที่เราเห็นกันตามป้ายราคาผลิตภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เก็ต จนมาถึงยุคนี้เราจะเห็น QR Code กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยากจะบอกว่ามันไม่ได้มีแค่นี้ แต่เดี๋ยวนี้ยังมีบาร์โค๊ดแบบอื่นอีกเช่น Microsoft Tag (www.gettag.mobi) ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งโค๊ดทั้งสามแบบที่กล่าวมาก็ทำหน้าที่เชื่อมโลกออนไลน์ให้เข้ากับออฟไลน์ได้ทั้งหมด
เราลองมาดูวิธีการใช้งานกันบ้างว่า หากนำ Mobile Tag เหล่านี้มาคิดในเชิงการตลาด จะช่วยอะไรให้กับสินค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ได้บ้าง เราสามารถแบบตัวอย่างออกเป็น 4 วัตถุประสงค์หลัก ๆ ได้ดังนี้ครับ
1. เพื่อการสร้างการรับรู้ของแบรนด์
Mobile Tag สามารถใช้เพื่อดึงความสนใจของผู้บริโภคซึ่งนักการตลาดสามารถใช้ Mobile Tag เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ สร้างความเข้าใจในแบรนด์ หรือแม้กระทั่งให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์กับแบรนด์แม้ว่าจะอยู่นอกสถานที่ได้ เช่นการสแกนโค๊ดเพื่อรับของรางวัลทันที เช่นการแจกตัวอย่างสินค้า หรือการแจกบัตรเข้าคอนเสิร์ตเมื่อเอาโทรศัพท์มือถือไปสแกน QR Code จากโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นต้น อีกรูปแบบหนึ่งคือการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์การเล่นเกม เช่นเอา QR Code ไปติดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมเล่นเป็นวอล์คแรลลี่ หาคำตอบต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ใน QR Code ซึ่งจะเห็นได้ต้องใช้โทรศัพท์มือถือสแกนดูเท่านั้น
2. เพื่อให้ข้อมูลมากขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ
Mobile Tag สามารถให้ข้อมูลสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจซื้อได้ เช่นมีสินค้าอยู่ชิ้นหนึ่ง แล้วมีป้าย QR Code แปะอยู่ เมื่อสแกนโค๊ดแล้วจะให้ข้อมูลการรีวิวสินค้านั้น ๆ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่จะซื้อสินค้าที่มีราคาสูงมักจะหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจค่อนข้างมาก หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใช้จุดนี้มาเล่น ณ จุดขาย หรือที่ตัวสินค้าเลย ย่อมมีโอกาสที่จะโน้มน้าวใจให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น หรือใช้เพื่อให้ตัวอย่างสินค้า เช่นหนังสือที่ถูกห่อพลาสติคไว้ไม่ให้แกะอ่าน หากมี Mobile Tag ให้สแกน เพื่ออ่านตัวอย่างก็จะทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจซื้อได้เช่นกัน
3. เพื่อก่อให้เกิด Action หรือเกิดการซื้อ
ร้านกาแฟบางแห่งมีไอเดียที่เก๋ไก๋ เนื่องจากเห็นว่าเวลาลูกค้ามาที่ร้านจะต้องต่อแถวยาว ๆ เพื่อสั่งกาแฟ ก็เลยออกไอเดียให้ผู้ซื้อคนอื่น ๆ ที่ไม่อยากต่อแถว สามารถเอาโทรศัพท์มือถือสแกน Mobile Tag เพื่อสั่งกาแฟที่ต้องการได้เลย โดยไม่ต้องต่อแถว เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การอำนวยความสะดวกเล็ก ๆ หน่อย ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดการซื้อขายได้เช่นกัน ขนาดห้างโลตัส เรายังเคยเห็นโฆษณาเลยว่า หากแถวของการชำระเงินยาวเกินกว่าเส้นเขียว ทางห้างจะเปิดบริการช่องชำระเงินเพิ่มทันที
4. เพื่อหลังจากการซื้อสินค้า
Mobile Tag สามารถช่วยสร้างความพึงพอใจในการซื้อสินค้าได้เช่นกัน โดยการให้บริการเพิ่มเติมหลังการขาย ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือการให้ข้อมูลวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เช่นวิธีการประกอบเฟอร์นิเจอร์แบบประกอบเองที่ซื้อไป โดยสามารถนำเสนอวิธีใช้เป็นวีดีโอให้ดูง่ายดายยิ่งขึ้น หรือสูตรการปรุงอาหารหากสินค้าที่ซื้อไปเป็นสินค้าที่สามารถไปปรุงเพิ่มเติมได้เป็นต้น หรือแม้กระทั่งให้ผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้ว สามารถสแกน Mobile Tag ที่ติดอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการเขียนรีวิวสินค้าได้เลยในทันที
ซึ่งโอกาสในการทำการตลาดโดยการใช้ Mobile Tag ยังมีอยู่มากมาย เพียงแค่นักการตลาดต้องลองขบคิดว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของท่านสามารถนำ Mobile Tag ไปร่วมใช้ตรงจุดไหนได้บ้าง และดูว่าสิ่งไหนในสี่หัวข้อตัวอย่างข้างต้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจของท่านได้มากที่สุดครับ
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในคอลัมน์ Connected ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น