วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ Marketing Click…Long Tail, Hi5 กับไอ้ปื้ด


“…จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า จะไปไขว่คว้าเอามาดังใจฝัน จะไปให้ถึงปลายทางในวันนั้น จะเป็นคนดังที่อยู่ในแสงไฟ…” เนื้อเพลงของ Academy Fantasia สะท้อนความฝันของวัยรุ่นสมัยนี้ที่ต้องการก้าวสู่การเป็นดาวที่เจิดจรัสประดับไว้ในวงการเพลงเมืองไทย แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถก้าวไปสู่ปลายฝันที่หวังไว้ได้
ไอ้ปื้ดก็เช่นเดียวกัน เขาตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน Reggae เป็นสไตล์ที่พวกเขาชื่นชอบ แม้มันจะหาคนฟังยากเมื่อเทียบกับเพลง Pop ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น แต่พวกเขาไม่ต้องการเปลี่ยนแนวเพลงเพียงเพื่อจะเอาใจกับมหาชนทั้งหลาย แต่ขอแค่เพียงเป็นดาวดวงน้อยๆ ที่อยู่ในอ้อมใจของแฟนเพลงที่ชื่นชอบเพลงของพวกเขา
ในอดีต หนทางในการเป็นศิลปินเพลง ดูจะมีทางเลือกไม่มาก ด้วยความที่ตลาดเพลงบ้านเราถูกครอบงำด้วยค่ายเพลงเพียงสองค่ายใหญ่ ซึ่งถือเป็นผู้กำหนดทิศทางและความเป็นไป ด้วยความที่มีเงินทุนจำนวนมาก ที่พร้อมจะทุ่มเพื่อการโปรโมตเพลง สถานีวิทยุที่อยู่ในเครือที่พร้อมจะเปิดเพลงกรอกหูผู้ฟังเพื่อให้เพลงนั้นติด ไม่ต้องพูดไปถึงมิวสิกวิดีโอที่ถูกเปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรายการเพลงทางโทรทัศน์
อัลบั้มเพลงหนึ่งๆ มีต้นทุนมหาศาล ดังนั้นค่ายเพลงทั้งสองต้องคิดแล้วคิดอีกว่า นักร้องที่ปั้นอยู่นั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันหรือไม่ อีกทั้งแนวเพลงนั้นน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วๆ ไปหรือเปล่า ใช่ครับ ค่ายเพลงย่อมต้องหวังว่าเพลงที่ผลิตออกมาจะต้องขึ้นอันดับ Top Hit ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้คุ้มกับทุนที่ได้ลงไป
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดของพื้นที่ในร้านขายซีดีหรือวีซีดีเพลง ซึ่งคงไม่มีร้านไหนที่จะสามารถเอาอัลบัมเพลงทุกๆ อัลบัมมาวางจำหน่ายได้ ดังนั้นพวกเขาก็คัดเอาแต่เพียงอัลบัมยอดนิยมมาขายเพื่อประกันรายได้ที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้มันยิ่งเสริมให้ผู้ฟังเพลง ไม่มีทางเลือก กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการฟังเพลงของคนในสังคมไป
กฎ 80/20 ของพาเรโตคือความจริงในตลาดแบบมวลชน (Mass Market) กล่าวคือ รายได้กว่า 80% ของร้านเกิดมาจากสินค้า เพียง 20% เท่านั้น นั่นคือจะมีสินค้ายอดนิยม เพียงไม่กี่ตัวที่นำพามาซึ่งกำไรก้อนใหญ่ ซึ่งในวงการเพลงในอดีตก็ไม่อาจหลีกพ้นกฎเกณฑ์นี้ไปได้ เพลงฮิตติดอันดับ Top Ten คือตัวทำเงินให้ทั้งแก่ค่ายเพลงและร้านขายซีดีหรือวีซีดีเพลงทั้งหลาย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไอ้ปื๊ดและวงดนตรีของเขา ทำเพลงที่สนองตอบความต้องการของคนเพียงบางกลุ่ม (Niche Market) แทบจะหมดโอกาสเกิด มันไม่ใช่เรื่องของการขาดพรสวรรค์ ไม่ใช่เรื่องการขาดความสามารถทางดนตรี แต่เป็นเพราะว่าเพลงของพวกเขาไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นเพลงฮิตติดอันดับ โอกาสที่จะขายได้แทบจะไม่มี
หากเป็นเช่นนี้ อนาคตของไอ้ปื๊ดก็ดูจะค่อนข้างมืดมน!!
แต่สำหรับโลกยุคใหม่ การเกิดขึ้นมาของอินเทอร์เน็ตได้พังทลายปัญหาเรื่องของต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าที่ลดต่ำลงอย่างมากโดยเฉพาะสินค้าประเภทที่เป็นดิจิตอลอย่างเพลงหรือหนัง ต้นทุนในการกระจายสินค้าที่สามารถครอบคลุมคนได้ทั้งโลกผ่านเครือข่าย World Wide Web ต้นทุนในการเข้าถึงตัวสินค้าที่ทำได้ง่ายขึ้นด้วยศักยภาพของเครื่องมือค้นหา (Search Engine) ที่ทรงพลัง รวมไปถึงการลดต้นทุนในการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบเดิมๆ (Traditional Media) ที่ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอลที่ต้นทุนแทบจะเป็นศูนย์ เมื่อต้นทุนเหล่านี้ลดลงอย่างมหาศาล ความต้องการที่ซ่อนเร้นของคนฟังที่เคยถูกหมางเมิน เพราะไม่ได้อยู่ในกระแสมวลชน ก็ค่อยๆ เผยตัวเองออกมาให้ได้เห็นกัน
ความจริงแล้วปรากฏการณ์นี้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตขึ้นมาในโลก แต่ผู้ที่ได้สังเกตเห็นและนำมาเขียนอรรถาธิบายได้อย่างชัดเจน คือ คริส แอนเดอร์สัน ในหนังสือ “The Long Tail” ซึ่งสามารถสรุปปรากฏการณ์ Long Tail นี้ได้ตามรูปภาพข้างล่างนี้

จากกราฟนี้ในส่วนที่เป็นสีแดง เป็นลักษณะตลาดแบบดั้งเดิม ที่จะมีสินค้าเพียงไม่กี่รายการที่ได้รับความนิยมในระดับสูง ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะเจาะลงไปในตลาด niche เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูญเสียไปตามที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อเกิดตลาดออนไลน์หรือ ตลาดเสมือนจริงขึ้น ทำให้สินค้าที่แต่เดิมไม่ได้รับความสนใจเพราะขนาดตลาดเล็กมากกลับมีจำนวนมากขึ้น จะเห็นว่าส่วนหางของกราฟจะยาวไปเรื่อยๆ หมายความว่า สินค้าที่นิยมกันน้อยมากก็ยังมีการซื้อขายเกิดขึ้น
คริส แอนเดอร์สัน ยกตัวอย่างร้านขายเพลงออนไลน์อย่าง www.rhapsody.com ซึ่งเสนอขายเพลงทางอินเทอร์เน็ตมากถึง 1.5 ล้านเพลง (เมื่อปี 2006) ถึงแม้เพลงยอดฮิตยังคงมีความสำคัญซึ่งอยู่ในส่วนหัวของกราฟ ขณะที่ดูเผินๆ เราอาจจะมองว่าเพลงที่อยู่ทางส่วนหางมีจำนวนคนที่สนใจซื้อไม่มากนักเพราะมีค่าเข้าใกล้ศูนย์ แน่นอนว่าหากเป็นร้านค้าเพลงแบบเดิมๆ คงไม่สนใจส่วนหาง ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการนำเสนอซีดีหรือวีซีดีเพลงต่างๆ แต่เมื่ออยู่ในร้านค้าออนไลน์ สามารถที่จะนำเสนอเพลงได้อย่างไม่จำกัด ผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดเพลงไปฟังได้เลย ไม่ต้องมาทำเป็นซีดีหรือวีซีดีเหมือนเช่นเดิม เมื่อต้นทุนส่วนนี้ลดลง เพลงที่ www. rhapsody.com ขายนั้นจึงมีจำนวนมากมายมหาศาล และพบว่าเส้นกราฟส่วนหางที่ดูคล้ายจะเข้าใกล้ศูนย์นั้น ยอดดาวน์โหลดรวมมากกว่าหนึ่งในสี่ของธุรกิจทั้งหมดของ Rhapsody เสียอีก นั่นคือตลาดที่เคยถูกเพิกเฉยมานานแสนนาน ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงมาก
ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีนัยว่าแนวเพลงที่กลุ่มคนฟังน้อยๆ เช่น Punk หรือ Ska ซึ่งไม่ใช่แนวเพลงยอดฮิตอย่าง Pop หรือ Rock ที่มีอยู่ดาษดื่น ก็สามารถถูกนำเสนอขายออนไลน์ ได้อย่างไม่จำกัด อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะซื้อเพลงเหล่านี้
แน่นอนรวมไปถึงแนวเพลง Reggae ของไอ้ปื้ดอีกด้วย…??
มันหมายความว่า หากปื๊ดไม่ได้รับความสนใจจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หรือยักษ์เล็กทั้งหลาย ก็ไม่ได้หมายความว่าหนทางสายดนตรี จะจบสิ้นลง แม้ปื๊ดอาจจะไม่สามารถดังได้เหมือนป๊อด (โมเดิร์นด๊อก) แต่ในโลกออนไลน์ ไอ้ปื๊ดยังมีโอกาสเกิด
เอาล่ะ เรามาลองดูวิธีการที่จะพาไอ้ปื๊ดและวงดนตรีของเขาก้าวไปให้ถึงฝั่งฝันกัน
(1) ก่อนอื่นต้องเริ่มที่การผลิต เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ห้องอัดเสียงอิสระมีอยู่มากมาย อีกทั้งซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไปก็สามารถปรับแต่งเสียงได้อย่างไม่ยากเย็น เมื่อได้เพลงแล้วก็แปลงเป็นไฟล์ดิจิตอลเสีย สิ่งสำคัญที่แตกต่างจากการทำ เพลงสมัยก่อนคือว่า คุณไม่จำเป็นต้องทำเพลงออกมาเป็นอัลบัมที่บังคับว่าจะต้องมีเพลงอย่างน้อยสิบเพลง เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายในตลาดมวลชนตามร้านค้าซีดีหรือวีซีดีทั้งหลาย แต่ตลาดของเราอยู่บนโลกออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถเลือกดาวน์โหลดเพลงได้เพลงต่อเพลง
(2) ปัญหาต่อมาจะเอาไปขายที่ไหน ก่อนอื่นคงต้องกล่าวก่อนว่า แม้แต่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่และอาร์เอสก็เห็นถึงปรากฏการณ์ Long Tail จึงจัดทำเว็บไซต์ขึ้นเพื่อจำหน่ายเพลงออนไลน์ อย่างของแกรมมี่ คือ www.gmember.com หรือทางค่ายอาร์เอส คือ www. mixiclub.com
แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วค่ายเพลงทั้งสองไม่รับพิจารณาจำหน่ายเพลงจากศิลปินอิสระอย่างไอ้ปื๊ด เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะยังมีเว็บไซต์อย่าง www.coolvioce.com ที่พร้อมจะรองรับเพลงจากศิลปินโนเนมได้เข้ามามีโอกาสในการสร้างรายได้ ทั้งนี้ศิลปินสามารถนำเพลงในรูปแบบ MP3 หรือวิดีโอไฟล์ MPEG4 ดาวน์โหลดขึ้นบนเว็บไซต์ผ่านโปรแกรมอย่าง CrossTalk เมื่อผู้ฟังสนใจเพลงของไอ้ปื๊ด ก็สามารถดาวน์โหลดได้ทันที โดยคิดราคาที่เพลงละ 30 บาท และสามารถชำระเงินออนไลน์ผ่านบัญชีบริการ PaySbuy
ทั้งนี้ในส่วนของการแบ่งสันปันส่วนรายได้ ไอ้ปื๊ดและวงจะได้ร้อยละ 70 ส่วนเว็บไซต์จะได้อยู่ที่ร้อยละ 30
เห็นไหมครับว่า นี่คือโอกาสทำเงินที่เปิดให้กับศิลปินอิสระอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับตลาดเพลงไทย

(3) ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก คือจะทำอย่างไรให้คนฟังเพลงได้รู้จักเพลงของปื๊ดและวงดนตรีของเขา แน่นอนลืมเรื่องโทรทัศน์ และวิทยุไปได้เลย เพราะนั่นเหมาะกับตลาดมวลชนมากกว่า สำหรับตลาด niche แล้ว
ในโลกออนไลน์มีเครื่องมือที่ดีสำหรับการโปรโมตเพลงคุณอย่างมากมายในต้นทุนที่สุดแสนจะต่ำ แต่ที่กำลังมาแรงที่สุดคือ การทำการตลาดบนเว็บไซต์จำพวก Social Networking หรือเครือข่ายสังคม
สำหรับความหมายของ Social Networking นั้น สรุปจาก Wikipedia ก็หมายถึง เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างสังคมออนไลน์ขึ้น ซึ่งจะมีผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความสนใจและการสื่อสารระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านบล็อก โพสต์รูปภาพ วิดีโอ การสร้างกลุ่มสำหรับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน และอื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความสามารถในการสร้างเครือข่ายเพื่อนได้อย่างทวีคูณ ผ่านการเชื้อเชิญทางอีเมล อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มจำนวนเพื่อนผ่านเพื่อนๆ ของเราที่มีอยู่แล้วเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ
ครับ…กล่าวง่ายๆ ว่า เครือข่ายสังคม เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงประสิทธิภาพ สำหรับการทำการตลาดแบบปากต่อปาก หรือ Viral Marketing
เว็บไซต์ที่ให้บริการเครือข่ายสังคมนี้มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Myspace, Facebook, Multiply, Bebo และอื่นๆ แต่ที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทย คงไม่พ้น Hi5
ทั้งนี้จากตัวเลขของ www.alexa.com แสดงให้เห็นว่าเว็บไซต์อย่าง Hi5 มีคนไทยเข้าไปมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เหนือกว่าเว็บไซต์ดังอย่าง www.google.com เสียอีก ถือเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศโดมินิกัน ที่มีจำนวนการใช้เว็บไซต์ประเภทอื่นมากกว่าการใช้เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลอย่างกูเกิ้ล ทั้งนี้มีจำนวนคนไทยที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกมีจำนวนสูงกว่า 1 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้นทั้งประเทศประมาณ 13.6 ล้านคน
นั่นหมายถึง Hi5 คือเครือข่ายยักษ์ที่สามารถใช้เป็นสื่อกลางทางด้านการตลาดได้เป็นอย่างดี
ไอ้ปื๊ดเห็นโอกาสดังกล่าวจึงไปสมัครเป็นสมาชิก Hi5 พร้อมกับอัพโหลดเพลงของตนเองขึ้นเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ให้คนอื่นได้ฟังกัน รวมไปถึงยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเพลง ความเคลื่อนไหวของวง หรือชีวิตส่วนตัวและอื่นๆ ทั้งในรูปแบบของข้อเขียนผ่าน Profile หรือ Journal รวมไปถึงในรูปแบบของรูปภาพ วิดีโอ และยังไปตั้งกลุ่มให้แฟนคลับเข้ามาพูดคุยกันได้อีกด้วย ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นเครื่องมือในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หากเพลงของไอ้ปื้ดเป็นที่ชื่นชอบ ก็จะได้รับการแนะนำต่อกันไปเป็นลูกโซ่ จากเพื่อน ถึงเพื่อน ซึ่งสร้างเครือข่ายได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการทำ การตลาดวิธีนี้คือ การที่คนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ บนหน้า Hi5 ของเรา โดยเฉพาะการแวะเวียนเข้ามาทักทายผ่านคอมเมนต์ ทั้งนี้สถิติที่จะชี้ความสำเร็จก็คือจำนวน คนที่เข้ามาเป็นเพื่อนเรา จำนวนคอมเมนต์ที่ได้รับ สิ่งสำคัญคือปื้ดจะต้องหมั่นเข้ามาพูดคุยกับแฟนเพลงเพื่อกระชับความสัมพันธ์

อีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้กลุ่มคนฟัง ได้รู้จักเพลงของปื๊ดคือ สถานีวิทยุออนไลน์ที่มีอยู่ราวกับดอกเห็ด ที่พร้อมจะเปิดเพลงจาก ศิลปินอิสระเหล่านี้ เนื่องจากไม่ได้มีค่ายเพลง ใดเป็นเจ้าของ แต่เป็นเหมือนเวทีแสดงออกที่ใครก็ได้อยากจะเป็นดีเจ เพียงแค่อาศัยเพียงคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ไมโครโฟนก็สามารถทำได้แล้ว เว็บไซต์สถานีวิทยุออนไลน์ เช่น radio.thaiware.com, radio.mercigod.com, www.jookku.com/radio/index.php, www.siamhiphop.com/radio และอื่นๆอีกมากมาย
หลายคนอาจสงสัยว่าสื่อออนไลน์พวก นี้จะมีศักยภาพพอที่จะทำให้ไอ้ปื๊ดและวงดนตรี ของเขาโด่งดังขึ้นมาได้สักกี่มากน้อย ขอยกตัวอย่างความสำเร็จของ Mafia Record ที่ถนัดเพลงแปลงที่เน้นเอาล่อเอาเถิดกับแฟนฟุตบอลสโมสรต่างๆ
ด้วยความที่เจ้าของเว็บไซต์เป็นแฟนเพลงลิเวอร์พูล เพลงแรกที่แปลงคือเพลง “You’ll never walk again” ล้อเลียน “You’ll never walk alone” เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว เพราะคงอึดอัดกับการทำทีมของเฮียโปน เชรา อูลลิเยร์ เหลือเกิน แต่เพลงที่ทำให้ MafiaRecord เริ่มโด่งดังขึ้นมาคือ เพลง
“วินนิ่งไหมสาด” แปลงจากเพลง “น้องเปิ้ล น่ารัก” เพื่อล้อเลียนเพื่อนที่อ้างตัวว่าเป็นสุดยอดของเกมวินนิ่งอีเลฟเว่น แต่พอมาเล่นกับเจ้าของเว็บไซต์ Mafia Record กลับพ่ายเสียเละเทะ แล้วก็มาถึงเพลง “ผีกาก้า” ที่แปลงจากเพลง “หมีแพนด้า” ที่ดังกระหึ่มจนกลาย เป็น Talk of the town ถึงขนาดที่ว่ารายการโทรทัศน์อย่าง “เรื่องเล่าเช้านี้” นำไปเปิดให้คนไทยได้รู้จักกันทั่วประเทศ โด่งดังถึงขนาดที่ว่าสามารถจะสร้างรายได้จากการให้บริการดาวน์โหลดเพลงลงโทรศัพท์มือถือทั้งในเครือข่าย AIS DTAC และ TRUEMOVE อีกด้วย
นั้นคือความสำเร็จของ MafiaRecord ที่ไอ้ปื๊ดหวังจะเจริญรอยตาม…??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น