วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ใคร ทำอะไร ที่ไหน… กับไอเดียการใช้โลเคชั่นเบส

โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มถูกใช้เพื่อเสริมพลังในการทำธุรกิจร้านค้าหรือภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่มีลูกเล่นเรื่องการระบุพิกัดที่อยู่ปัจจุบันของเจ้าของเครื่อง บวกกับโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ ที่ให้ผู้ใช้ได้ระบุพิกัดที่อยู่ได้เอง (Location Based Social Network) เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย อย่างเช่นโฟร์สแควร์ หรือโกวัลล่า ที่เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทย
นอกเหนือจากสองเว็บไซต์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมียักษ์ใหญ่อีกเว็บหนึ่งที่ชื่อเฟซบุ๊ค ซึ่งได้เปิดตัวบริการระบุพิกัดที่อยู่ (Location Based Service) โดยใช้ชื่อบริการว่า Places มาให้สมาชิกได้ใช้ โดยเบื้องต้นบริการนี้สามารถใช้ได้เฉพาะในบางประเทศเท่านั้น แน่นอนว่า ยังไม่มีเมืองไทยของเรา แต่แนวโน้มนี้ทำให้เราเห็นภาพเหมือนกันว่า ขนาดยักษ์ยังขยับตัว ดังนั้นบริการ Location Based แบบนี้ย่อมมีทิศทางที่ดีขึ้น หากมีผู้ให้บริการเยอะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเจ้าของร้านค้าหรือธุรกิจต่าง ๆ ก็คงต้องหมั่นศึกษาและดูว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คในลักษณะอย่างนี้ จะต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างไร ผมลองไปค้นหาตัวอย่างของธุรกิจต่าง ๆ ที่เริ่มใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คแบบนี้มาให้ดูกันเผื่อว่าสามารถนำไปต่อยอดทางความคิดได้
ตัวอย่างแรกที่อยากจะแนะนำสำหรับคอกาแฟก็คือ แบรนด์อย่างสตาร์บั๊ค ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่มีการพัฒนาและใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุดแบรนด์หนึ่งในโลกเหมือนกัน โดยสตาร์บั๊คได้ร่วมกับโฟร์สแควร์ เพื่อจัดทำป้ายที่เรียกว่า Barista Badge หรือป้ายสำหรับนักชงกาแฟ มาให้สาวกโฟร์สแควร์ได้สะสมป้ายนี้กันได้ หากใครอยากได้ป้าย Barista Badge นี้ ก็ทำได้ไม่ยากหากคุณเป็นคอกาแฟสตาร์บั๊คอยู่แล้ว คือหากคุณเช็คอินที่ร้านสตาร์บั๊ค 5 สาขาขึ้นไป ก็จะได้รับป้าย Barista Badge ไปสะสมไว้ได้ โดยป้ายเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นของขวัญแบบออนไลน์ (Virtual Gift) ซึ่งไม่ต้องเป็นของที่มีมูลค่าแพง ๆ แต่บางทีแค่ของขวัญแบบออนไลน์ลักษณะนี้ ก็สามารถทำให้ผู้ใช้หันมาสนใจได้มากขึ้น โดยหากมองให้ลึกลงไปถึงประโยชน์ของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับร้านสตาร์บั๊ค ก็น่าจะเป็นว่าร้านสตาร์บั๊คก็จะได้คนเข้าร้านเยอะขึ้น รวมไปถึงสามารถรู้ได้เลยว่า ใครเป็นขาประจำ และไปใช้บริการที่สาขาไหนบ่อยที่สุด สิ่งเหล่านี้หากทีมงานฝ่าย CRM (Customer Relationship Management) มาเห็นคงตาลุก เพราะน่าจะเป็นข้อมูลที่เอาไปต่อยอดทำอะไรได้อีกเยอะเชียว
หรืออีกไอเดียหนึ่งสำหรับสตาร์บั๊ค ซึ่งถือว่าเป็นไอเดียคลาสสิคสำหรับการทำการตลาดกับเว็บประเภทนี้ก็คือ คนที่เป็นเจ้าถิ่นหรือเป็น Mayor (ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่มาเช็คอินที่ร้านบ่อยที่สุด) ของร้านสาขานั้น ๆ จะได้คูปองส่วนลด 1 เหรียญ ซึ่งเป็นการให้รางวัลหรือซื้อใจผู้ที่เป็นลูกค้าขาประจำได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างที่สองที่น่าสนใจพอกันก็คือ กรณีศึกษาของรถยนต์เชฟโรเล็ต ที่ทำร่วมกับเว็บไซต์โกวัลล่า  ซึ่งครั้งนั้นทางเชฟโรเล็ตได้สร้างแคมเปญนี้ขึ้นในช่วงที่มีงานสัมมนา SXSW ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่เกี่ยวกับดนตรี ภาพยนต์ และเรื่องอินเทอร์แอคทีฟ ที่เมืองออสตินในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้คิดขึ้นมาเป็นแคมเปญชื่อ เซฟวี่ฟรีไรด์ (Chevy Free Ride) ซึ่งเป็นของรางวัลเซอร์ไพรซ์ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม เมื่อคนที่เดินทางมาร่วมงานสัมมนาครั้งนี้มาถึงสนามบินที่ออสติน แล้วทำการเช็คอินที่สนามบิน ก็จะมีข้อความว่าคุณเป็นผู้ถูกเลือกให้รับรางวัลเป็นบริการขับรถไปส่งยังโรงแรมของคุณฟรี โดยรถเชฟโรเล็ต ซึ่งไอเดียแบบนี้ หากลองคิดย้อนไปถึงผลประโยชน์ของธุรกิจ ก็คือผู้ใช้ได้ทดลองนั่ง หรือขับรถเชฟโรเล็ต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของธุรกิจขายรถยนต์ที่อยากให้คนได้ลองนั่งลองขับ เรียกได้ว่าก่อให้เกิดการทดลองใช้สินค้าได้เหมือนกัน
นี่เป็นเพียงแค่สองไอเดียเก๋ ๆ และไม่ยากหากนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งผมมองว่าอีกไม่นาน เราจะเริ่มเห็นแคมเปญการตลาดที่ทำร่วมกับเว็บไซต์ประเภทโลเคชั่นโซเชียลเน็ตเวิร์คเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
บทความนี้เขียนโดย เก่ง กติกา สายเสนีย์ เพื่อตีพิมพ์ในคอลัมน์ Connected ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น