วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

7 เทคนิคการใช้โซเชียลมีเดีย ให้ชีวิตมีความสุข

ผมได้มีโอกาสอ่านพบข้อความหนึ่งที่เขียนผ่านทวิตเตอร์ผ่านมาในหน้าจอของผมว่า เมื่อสมัยก่อนที่ยังไม่มีเฟซบุ๊ค ยังไม่มีทวิตเตอร์ หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน ทั้งที่แต่ก่อนมีแค่ช่องเก้าการ์ตูน ก็มีความสุขแล้ว
พออ่านบทความนี้จบ ผมก็คิดดูกับตัวเองว่า เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว เรามีความสุขลดน้อยจริงหรือไม่ ก็พบว่าตัวผมเองก็เคยมีความพยายามที่จะหลุดพ้นจากโลกเทคโนโลยีและสื่อดิจิตอลต่าง ๆ บ้างในเวลาที่เหนื่อยล้า เช่นตอนที่หนีไปพักที่ต่างจังหวัดสักสองสามวัน บางครั้งผมแทบไม่แตะอุปกรณ์เทคโลโลยีต่าง ๆ เลย เรียกว่าพยายามใช้เวลาทุกนาทีที่มีอยู่ในวันพักผ่อน เพื่อหลบฉากจากเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ได้ แต่ลองมานึกดูว่า หากเราจำเป็นที่จะต้องอยู่กับเทคโนโลยีเหล่านี้ไปตลอดล่ะ จะต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้ชีวิตเราได้ใช้โซเชียลมีเดีย ที่ก่อให้เกิดความสุขกับชีวิตเราได้บ้างดังนี้ครับ
1. ใช้โซเชียลมีเดียให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตน เว็บโซเชียลมีเดียที่มีกันอยู่หลากหลายนั้น ต่างมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่นเฟซบุ๊ค (facebook.com) นั้นก็สามารถเขียนได้ทั้งแบบตัวอักษรและรูปภาพต่าง ๆ หรือบริการบล็อกสั้นอย่างทวิตเตอร์นั้น ใส่ได้เฉพาะตัวอักษร แต่หากมองกันดีๆ แล้ว ทวิตเตอร์จะไม่สูบพลังงานของเรามากเท่าเฟซบุ๊คเป็นต้น
2. ใช้ช่วยเหลือผู้อื่น ลองใช้ความสามารถ ความรู้ หรือประสบการณ์ของคุณที่มีอยู่ นำไปตอบคำถามของเพื่อน ๆ หรือบางครั้งตอบให้กับคนที่ไม่รู้จักบ้างก็ได้ ซึ่งการทำแบบนี้ก็จะทำให้เราได้รู้สึกว่า ความรู้ของเรา สามารถช่วยเหลือคนอื่นที่บางทีอาจไม่ถนัดในเรื่องเหล่านี้ได้ บางทีการช่วยเหลือผู้อื่น อาจไม่ใช่แค่การตอบคำถาม แต่อาจเป็นการช่วยบอกต่อข้อความที่มีผู้ขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้คนเห็นข้อความที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นมากขึ้น
3. ใช้สอบถามความคิดเห็น บางทีหากอยากทำอะไรบางอย่าง แต่ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกทางไหนดี ให้ลองเขียนลงบนเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ เพื่อถามไปยังเพื่อน ๆ ของเราที่อยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์คเหล่านั้น บางครั้งก็จะได้คำตอบที่ดีเกินคาดเลยทีเดียว
4. ใช้ระบบส่งข้อความแบบส่วนตัวเพื่อสื่อสารเรื่องธุรกิจ ลองหันมาใช้ direct message ในทวิตเตอร์ หรือส่งข้อความส่วนตัวไปในเฟซบุ๊ค บางทีเพื่อน ๆ หรือคนที่ติดตามอ่านเฟซบุ๊คของเราอยู่ ก็อาจจะอยากรู้ว่าคุณทำธุรกิจอะไร ทำงานที่ไหนเป็นต้น บางทีผู้อ่านท่านนั้นอาจจะกำลังมองหาคู่ค้าทางธุรกิจที่ท่านถนัดอยู่พอดี ซึ่งหากได้ติดต่อสื่อสารกันไปได้สักระยะ ก็จะทำให้สนิทกันมากขึ้น และที่สำคัญก็คือ เมื่อสนิทกันแล้วยังสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจจริง ๆ ได้อีกด้วย
5. ใช้เพื่อให้มีเพื่อนคอยปรึกษา หลายครั้งที่เราเกิดความเครียดจากการทำงาน หรือการเรียน ก็อยากพูดออกมาให้ใครได้ฟัง หากไม่มีเพื่อนนั่งอยู่ข้างกายในตอนนั้น อาจใช้ทวิตเตอร์เพื่อหาเพื่อนคุยไปด้วย ต้องระวังว่าอย่าเผลอไปใช้ข้อความที่หยาบคายหรือฟังดูแรงนะครับ เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจจะย้อนมาทำร้ายตัวเราได้ในอนาคต เช่นตอนสมัครงาน เดี๋ยวนี้บางบริษัทมีการแอบไปอ่านเฟซบุ๊คของคนที่จะมาสัมภาษณ์งานก่อนล่วงหน้าเสียอีก ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้ตัวตนของผู้สมัครที่บางครั้งอาจไม่สามารถสอบถามได้หมดในระยะเวลาสัมภาษณ์นัดไว้ เป็นต้น
6. ใช้เพื่อหาเพื่อนใหม่ ผมต้องสารภาพก่อนเลยว่าผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ หลายคนผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเพื่อนเหล่านี้ก็สนใจในเรื่องราวที่ผมสนใจเช่นกัน การพบเจอเพื่อนใหม่ ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องออกไปพบเจอกันตามสถานที่ต่าง ๆ เสมอไป แต่บางทีการรู้จักการผ่านรูปภาพและตัวอักษร ก็ทำให้เราได้เพื่อนใหม่ง่ายขึ้น มากขึ้น โดยไม่รู้ตัวเชียวครับ
7. ใช้เพื่อหาข้อมูลความรู้ใหม่ ผมมักจะใช้ฟังค์ชั่นบุ๊คมาร์คหรือ Add Favorite ของทวิตเตอร์อยู่บ่อย ๆ เพราะเมื่อเราพบเห็นข้อความที่ดี ๆ หรือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ผมก็จะรีบบุ๊คมาร์คเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาอ่านในภายหลังหากในขณะนั้นเรายังไม่ว่าง ซึ่งผมได้ข้อมูลในการทำงานหลายครั้งจากความพยายามที่จะ Add Favorite ข้อความที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา
ลองนำไปใช้กันดูนะครับ หวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้ทุกท่านสามารถใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างมีความสุขตลอดปี 2554 และต้องขอขอบคุณภาพประกอบโดย FasTake ด้วยครับ และบทความนี้ได้ inspiration จากtwitip
บทความนี้เขียนโดย เก่ง กติกา สายเสนีย์ เพื่อตีพิมพ์ในคอลัมน์ Connected ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น