วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การกำหนด ตัววัดผลในแคมเปญ Social Media

มีหลายครั้งเมื่อผมได้ไป present งานกับลูกค้า และมักจะมีลูกค้าหลาย ๆ ท่านถามว่า แล้วเราจะวัดผลในแคมเปญแบบ Social Network หรือใน Social Media ได้อย่างไรบ้าง อะไรจะเป็นตัววัดที่ดีที่สุด จนในที่สุดวันก่อนผมได้อ่านบทความจาก econsultancy ซึ่งได้รวบรวมตัววัดผล หรือการกำหนด KPIs ในแคมเปญ Social Media ขึ้นมา ซึ่งเมื่อได้ลองอ่านดูแล้ว ก็พบว่าเป็นการกำหนดตัววัดที่ดี เราสามารถทำมาประยุกต์ใช้ในตลาดประเทศไทยได้ เลย ขอนำมาเล่าให้ฟังกันครับ

ตัววัดต่าง ๆ สำหรับวัดผล Social Interaction มีดังนี้

  1. Alerts – จำนวนคนที่มาลงทะเบียน รับข่าวสารแบบแจ้งเตือน โดยสามารถวัดโดยแยกตาม channel ต่าง ๆ ได้
  2. Bookmarks -จำนวนคนที่ทำการ bookmark ทั้งใน social media นั้น หรือสถานที่ bookmark อื่น ๆ เช่น delicious
  3. Comments – จำนวนคนมา comment ในแคมเปญของเรากี่คน
  4. Downloads – จำนวนคนที่มาดาวน์โหลดเนื้อหา / วีดีโอ / เกมส์  หรือ widget
  5. Email subscriptions – จำนวนอีเมล์ที่มาสมัครเพื่อรับข่าวสาร
  6. Fans – จำนวนคนที่มาเป็นแฟน เช่นใน facebook fan page
  7. Favourites – จำนวนคนที่มา add ไว้เป็น favourite (ดูได้ว่าคนชอบเนื้อหานั้น ๆ มากแค่ไหน)
  8. Feedback – จำนวนคนที่ให้ feedback
  9. Followers – จำนวนคนที่มา follow เช่นใน twitter
  10. Forward to a friend – จำนวนครั้ง / คน ที่ทำการส่งต่อให้เพื่อน
  11. Groups – จำนวนการสร้างกลุ่ม หรือเข้าร่วมกลุ่ม หรือจำนวนรวมของกลุ่มทั้งหมด
  12. Install widget – จำนวน widget ที่ถูกนำไปติดตั้งไว้ที่อื่น เช่นใน blog หรือใน facebook
  13. Invite / Refer – จำนวนการชวนเพื่อนมาทำกิำจกรรม
  14. Key page activity – วัดจำนวนคนที่เข้ามาถึงหน้าเว็บเพจที่เราได้กำหนดไว้
  15. Love / Like this – จำนวนคนที่ชื่นชอบ (เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการ rating)
  16. Message – จำนวนข้อความที่ถูกส่งไปมาใน site นั้น ๆ
  17. Personalization – จำนวนหน้า หรือ theme ที่ถูก user ปรับแต่งให้ตรงกับสิ่งที่ตนชื่นชอบ
  18. Post – จำนวนการเขียนบทความ
  19. Profile – จำนวนการปรับแต่งโปรไฟล์ เช่น การอัพเดท avatar หรือข้อมูลส่วนตัว / ลิงค์ หรืออีเมล์ เป็นต้น
  20. Print page – จำนวนครั้งที่มีคนพิมพ์หน้านั้น
  21. Ratings – จำนวนการให้คะแนน
  22. Registered users – จำนวนคนร่วมลงทะเบียนเป็นสมาชิก โดยดูได้ทั้ง สมาชิกใหม่ / ยอดรวม / ที่ยัง active อยู่ เป็นต้น
  23. Report spam / abuse – จำนวนคนแจ้งว่าเป็น spam
  24. Reviews – จำนวนของการ review บางทีดูได้ถึงว่ารีวิวแล้วชอบ หรือรีวิวแล้วไม่ชอบ
  25. Settings – การตั้งค่าต่าง ๆ ของระบบที่ user ได้มาตั้งไว้
  26. Social media sharing / participation – จำนวนกิจกรรมบน social media ไซต์หลัก ๆ เช่น facebook, twitter, digg, zickr เป็นต้น
  27. Tagging – จำนวน tag ที่ user ได้สร้างไว้ สามารถดูลึกไปถึงว่าเค้าสร้าง tag ไหนมากสุด tag ไหนน้อยสุด
  28. Testimonials – จำนวนคนที่มาเขียนคำนิยม
  29. Time spent on key pages – ระยะเวลาที่มีผู้ใ้ช้เข้ามาอยู่ในหน้าหลัก เพื่อดูว่าอยู่นานแค่ไหน
  30. Time spent on site – ระยะเวลาที่มีผู้ใ้ช้เข้ามาอยู่ในเว็บ เพื่อดูว่าอยู่นานแค่ไหน สามารถแยกดูได้จากแหล่งที่มาของคนเข้าเว็บ
  31. Total contributors – จำนวนคนที่มามีส่วนร่วมในแคมเปญ
  32. Uploads – จำนวนชิ้นงานที่มีคนอัพโหลด เช่น ภาพ บทความ ลิงค์ หรือ วีดีโอ
  33. Views – จำนวนคนดูวีดีโอ ดูโฆษณา หรือไฟล์ประเภท Rich Media
  34. Widgets -จำนวนคนที่มาใช้วิดเจ็ท หรือเอาโค๊ตของวิดเจ็ทไปใช้
  35. Wishlists – จำนวนของสิ่งของที่มีคน add เิพิ่มไว้เป็นรายชื่อของที่อยากได้ มักเห็นในเว็บ shopping เช่น amazon.com
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้ น่าจะช่วยให้นักการตลาดหลาย ๆ ท่านได้ทำการวัดผลแคมเปญของตนเองใน social media ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้นนะครับ
ข้อมูลจาก econsultancy
ภาพประกอบ aussiegall

Personal Data Visualization

เดี๋ยวนี้การนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ สามารถนำมาแสดงในรูปแบบที่เรียกว่า Data Visualization ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลแบบใช้ graphic มาช่วย ทำให้ข้อมูลในรูปแบบที่น่าเบื่อ กลับน่าสนใจขึ้นมาในพริบตา
ในที่สุดคุณก็สามารถนำเสนอข้อมูลส่วนตัว ในแบบ data visualization กันได้แล้ว เมื่อเว็บไซต์ ionz ได้ทำเว็บไซต์ที่สามารถให้คนทั่วไป ไปสร้างรูปแบบการนำเสนอแบบนี้ได้ง่าย ๆ ในไม่กี่คลิก หากใครได้เข้าไปแล้ว ลองคลิกรูปไอค่อน ที่เป็นธงชาติอังกฤษ เพื่อเข้าสู่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษครับ
ไอเดียนี้น่าจะเหมาะกับการใช้กับประวัติส่วนตัว หรือพวกเว็บ portfolio ส่วนตัวได้ครับ
เว็บไซต์ : ionz
ข้อมูลจาก psfk

ธนาคาร First Direct กล้าใช้ comment จากลูกค้ามาทำเว็บไซต์

ธนาคาร First Direct แสดงความกล้าที่จะใช้ผลจาก Social Media ต่าง ๆ มาแสดงในเว็บไซต์ของตน เมื่อทางธนาคารต้องการให้ผู้คนรับรู้ถึงการบริการ ที่มีการรับประกันความพึงพอใจในการบริการ จึงเปิดเว็บไซต์FirstDirectLive ขึ้นมาเพื่อโชว์ว่าผู้คนที่ใช้บริการกับธนาคารนั้น รู้สึกอย่างไรกับธนาคาร สิ่งที่เราเห็นก็คือ การให้ผู้ใช้บริการ และคนทั่วไป ได้โหวตให้คะแนนว่า บริการของทางธนาคาร ดี ไม่ดี หรือเฉย ๆ แล้วคะแนนนั้น ก็จะนำมาแสดงในเว็บไซต์ให้คนทั่วไปเห็นได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นความมั่นใจของทางธนาคาร ที่ต้องการทำให้เห็นว่า บริการของทางธนาคารดีจริง ๆนอกจากนี้ ลูกเล่นต่าง ๆ ที่ FirstDirect นำมาใช้และเห็นว่าโดดเด่นก็คือ การใ้ช้ Data Visualization ซึ่งเป็นการนำข้อมูลมาแสดงผลในรูปแบบที่แปลกใหม่ เช่นการนำผลโหวตมาแสดงเป็นเครื่องหมายบวก ลบ เท่ากับ กระจัดกระจายแบบนี้
firstdirect-rating-big
และเมื่อเรากดที่ปุ่ม group feelings จะเป็นการรวมคะแนนแยกเป็น Positive, Negative หรือ Neutral แบบนี้
datavisualization-group
มิได้มีแค่ฟังค์ชั่นนี้อย่างเดียว ทางธนาคารได้จัดทำทั้งหมดสามแบบ เป็นการเล่นกับผลคะแนน หรือความคิดเห็นของ consumer ทั้งหมด ดังรูปข้างล่างซ้ายมือนี้ โดยกรอบซ้ายสุด จะเป็นการเอา comment หรือ feedback ของ consumer มาแสดง ส่วนกรอบกลางเป็นการเล่นเรื่องผลโหวตแบบที่ผมเล่าไปข้างต้น และขวาสุดเป็นการเล่นเกี่ยวกับ tag หรือคำต่าง ๆ เอามาแบ่งเป็นฝั่ง positive และ negative ซึ่งทั้งสามแบบนี้ มีการทำเป็น widget ไว้ให้คนทั่วไปได้นำไปใส่ใน social network ของตนเองได้เช่นกัน
firstdirect-widget
จะมีธุรกิจไทยรายไหน ที่กล้าที่จะเอาผลสด ๆ จาก consumer มาเล่นแบบนี้บ้าง อยากเห็นจัง

เรียนรู้เทคนิคของนัก twitter ที่ประสบความสำเร็จ

เมื่อนักทวีตชื่อดังในประดับโลก มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเล่าให้เราได้ฟังว่า เค้าดูแล twitter ของตัวเองอย่างไร ถึงได้ประสบความสำเร็จ จึงเป็นโอกาสของเรา ที่จะได้เรียนรู้ว่า แต่ละคนมีเทคนิคอย่างไร เราเลยต้องอาศัยวิชา “ครูพักลักจำ” กันซักหน่อย ในการทำ twitter marketing นั้นมีเทคนิคหลากหลาย แต่ละท่านมีเทคนิคไม่เหมือนกัน เรามาดูกันเลยครับ ว่าแต่ละท่าน มีเทคนิคอย่างไร
1. Tweet บ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเขียนด้วยคำพูดที่ฉลาด และมีสติในการเขียน ที่สำคัญคือ ต้องเป็น tweet ที่เราเขียนขึ้นเอง ไม่ซ้ำกับคนอื่น เพราะคนอ่านจะรู้สึกว่าเมื่อมาอ่าน tweet ของคุณแล้ว เค้าจะรู้สึกว่าคุณเป็นคนฉลาด (โดย Chris Brogan )
2. มีความสนใจในเรื่องที่จะ tweet อย่างจริงจัง มีความอยากที่จะเรียนรู้ และแบ่งปันข้อมูลที่มีคุณค่าผ่าน tweet ( โดย Perry Belcher )
3. Tweet บ่อย ๆ ในทุกเรื่องที่คุณคิดว่าน่าสนใจ (โดย Alyssa Milano)
4. หาเพื่อนใหม่ ๆ อยู่ตลอด โดยใส่ใจและให้น่ารักกับทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน (โดย BuzzEdition)
5. แบ่งปัน tweet ที่มีคุณค่าต่อ community โดยการ retweet ข้อความที่มีประโยชน์ (โดย Jason Pollock)
6. ค้นหาสไตล์ของตัวเอง เพราะผู้คนจะชอบเมื่อคุณเป็นตัวของตัวเอง (โดย FeatureBlend)
7. อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสนใจเรื่อง Social Media หรือเทคโนโลยีล้วน ๆ ดังนั้นลอง tweet เรื่องตลก ๆ หรือเรื่องที่น่าสนใจอื่น ๆ แทรกไปบ้าง ไม่ใช่ยึดติดกับ tweet ที่เป็นเรื่องหลัก ๆ ที่คุณจะเขียนเพียงอย่างเดียว (โดย Kim Sherrel)
8. Tweet แบบเฉพาะเรื่อง โดยให้เน้นเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่นหากคุณชอบเรื่อง design ก็เน้น tweet เกี่ยวกับดีไซน์ และลองตาม follow คนที่พูดเรื่องดีไซน์ (โดย Phaoloo)
เห็นไหมครับว่า แปดคนก็แปดสไตล์ แต่ละคนมีแนวทางของตัวเอง ผมว่าลองนำไปประยุกต์ใช้ดู และค้นหาดูว่าแบบไหนที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราเอง แต่อย่าลืมว่า เป็นตัวของตัวเองดีที่สุดครับ
ข้อมูลจาก : daily seo blog
Photo Credit : Robert Scoble

ใคร ทำอะไร ที่ไหน… กับไอเดียการใช้โลเคชั่นเบส

โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มถูกใช้เพื่อเสริมพลังในการทำธุรกิจร้านค้าหรือภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่มีลูกเล่นเรื่องการระบุพิกัดที่อยู่ปัจจุบันของเจ้าของเครื่อง บวกกับโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ ที่ให้ผู้ใช้ได้ระบุพิกัดที่อยู่ได้เอง (Location Based Social Network) เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย อย่างเช่นโฟร์สแควร์ หรือโกวัลล่า ที่เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทย
นอกเหนือจากสองเว็บไซต์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมียักษ์ใหญ่อีกเว็บหนึ่งที่ชื่อเฟซบุ๊ค ซึ่งได้เปิดตัวบริการระบุพิกัดที่อยู่ (Location Based Service) โดยใช้ชื่อบริการว่า Places มาให้สมาชิกได้ใช้ โดยเบื้องต้นบริการนี้สามารถใช้ได้เฉพาะในบางประเทศเท่านั้น แน่นอนว่า ยังไม่มีเมืองไทยของเรา แต่แนวโน้มนี้ทำให้เราเห็นภาพเหมือนกันว่า ขนาดยักษ์ยังขยับตัว ดังนั้นบริการ Location Based แบบนี้ย่อมมีทิศทางที่ดีขึ้น หากมีผู้ให้บริการเยอะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเจ้าของร้านค้าหรือธุรกิจต่าง ๆ ก็คงต้องหมั่นศึกษาและดูว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คในลักษณะอย่างนี้ จะต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างไร ผมลองไปค้นหาตัวอย่างของธุรกิจต่าง ๆ ที่เริ่มใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คแบบนี้มาให้ดูกันเผื่อว่าสามารถนำไปต่อยอดทางความคิดได้
ตัวอย่างแรกที่อยากจะแนะนำสำหรับคอกาแฟก็คือ แบรนด์อย่างสตาร์บั๊ค ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่มีการพัฒนาและใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุดแบรนด์หนึ่งในโลกเหมือนกัน โดยสตาร์บั๊คได้ร่วมกับโฟร์สแควร์ เพื่อจัดทำป้ายที่เรียกว่า Barista Badge หรือป้ายสำหรับนักชงกาแฟ มาให้สาวกโฟร์สแควร์ได้สะสมป้ายนี้กันได้ หากใครอยากได้ป้าย Barista Badge นี้ ก็ทำได้ไม่ยากหากคุณเป็นคอกาแฟสตาร์บั๊คอยู่แล้ว คือหากคุณเช็คอินที่ร้านสตาร์บั๊ค 5 สาขาขึ้นไป ก็จะได้รับป้าย Barista Badge ไปสะสมไว้ได้ โดยป้ายเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นของขวัญแบบออนไลน์ (Virtual Gift) ซึ่งไม่ต้องเป็นของที่มีมูลค่าแพง ๆ แต่บางทีแค่ของขวัญแบบออนไลน์ลักษณะนี้ ก็สามารถทำให้ผู้ใช้หันมาสนใจได้มากขึ้น โดยหากมองให้ลึกลงไปถึงประโยชน์ของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับร้านสตาร์บั๊ค ก็น่าจะเป็นว่าร้านสตาร์บั๊คก็จะได้คนเข้าร้านเยอะขึ้น รวมไปถึงสามารถรู้ได้เลยว่า ใครเป็นขาประจำ และไปใช้บริการที่สาขาไหนบ่อยที่สุด สิ่งเหล่านี้หากทีมงานฝ่าย CRM (Customer Relationship Management) มาเห็นคงตาลุก เพราะน่าจะเป็นข้อมูลที่เอาไปต่อยอดทำอะไรได้อีกเยอะเชียว
หรืออีกไอเดียหนึ่งสำหรับสตาร์บั๊ค ซึ่งถือว่าเป็นไอเดียคลาสสิคสำหรับการทำการตลาดกับเว็บประเภทนี้ก็คือ คนที่เป็นเจ้าถิ่นหรือเป็น Mayor (ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่มาเช็คอินที่ร้านบ่อยที่สุด) ของร้านสาขานั้น ๆ จะได้คูปองส่วนลด 1 เหรียญ ซึ่งเป็นการให้รางวัลหรือซื้อใจผู้ที่เป็นลูกค้าขาประจำได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างที่สองที่น่าสนใจพอกันก็คือ กรณีศึกษาของรถยนต์เชฟโรเล็ต ที่ทำร่วมกับเว็บไซต์โกวัลล่า  ซึ่งครั้งนั้นทางเชฟโรเล็ตได้สร้างแคมเปญนี้ขึ้นในช่วงที่มีงานสัมมนา SXSW ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่เกี่ยวกับดนตรี ภาพยนต์ และเรื่องอินเทอร์แอคทีฟ ที่เมืองออสตินในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้คิดขึ้นมาเป็นแคมเปญชื่อ เซฟวี่ฟรีไรด์ (Chevy Free Ride) ซึ่งเป็นของรางวัลเซอร์ไพรซ์ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม เมื่อคนที่เดินทางมาร่วมงานสัมมนาครั้งนี้มาถึงสนามบินที่ออสติน แล้วทำการเช็คอินที่สนามบิน ก็จะมีข้อความว่าคุณเป็นผู้ถูกเลือกให้รับรางวัลเป็นบริการขับรถไปส่งยังโรงแรมของคุณฟรี โดยรถเชฟโรเล็ต ซึ่งไอเดียแบบนี้ หากลองคิดย้อนไปถึงผลประโยชน์ของธุรกิจ ก็คือผู้ใช้ได้ทดลองนั่ง หรือขับรถเชฟโรเล็ต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของธุรกิจขายรถยนต์ที่อยากให้คนได้ลองนั่งลองขับ เรียกได้ว่าก่อให้เกิดการทดลองใช้สินค้าได้เหมือนกัน
นี่เป็นเพียงแค่สองไอเดียเก๋ ๆ และไม่ยากหากนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งผมมองว่าอีกไม่นาน เราจะเริ่มเห็นแคมเปญการตลาดที่ทำร่วมกับเว็บไซต์ประเภทโลเคชั่นโซเชียลเน็ตเวิร์คเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
บทความนี้เขียนโดย เก่ง กติกา สายเสนีย์ เพื่อตีพิมพ์ในคอลัมน์ Connected ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553

เชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์ด้วย Mobile Tag

เราคงเคยเห็นโฆษณาตามสื่อต่างๆ ที่มีการทำโค๊ดสีดำสีขาวแบบที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมมาอยู่ในโฆษณานั้นด้วย ซึ่งโค๊ดเหล่านั้นเราเรียกว่า ทูดีบาร์โค๊ด (2D Bar Code) หรืออีกชื่อที่คุ้นหูกันก็คือ คิวอาร์โค๊ด (QR Code) นั่นเอง ซึ่งพวกนี้โดยรวม ๆ เราจะเรียกมันว่า Mobile Tag หรือป้ายสำหรับโทรศัพท์มือถือครับ
บางท่านอาจเคยได้ลองนำเอาโทรศัพท์มือถือไปสแกนโค๊ดนี้เล่น ๆ ดูบ้าง ซึ่งเมื่อได้ลองสแกนข้อมูลดูแล้ว เราจะได้รับข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้นกว่าที่ได้รับข้อมูลจากป้ายโฆษณานั้น ๆ เช่นได้โปรโมชั่น หรือได้รายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นเป็นต้น ซึ่งการใช้งาน QR Code เหล่านี้ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ใช้เชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันโดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นตัวกลางทั้งสิ้น
การวิวัฒนาการของป้ายสำหรับโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ มีมาตั้งแต่บาร์โค๊ดธรรมดาที่เราเห็นกันตามป้ายราคาผลิตภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เก็ต จนมาถึงยุคนี้เราจะเห็น QR Code กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยากจะบอกว่ามันไม่ได้มีแค่นี้ แต่เดี๋ยวนี้ยังมีบาร์โค๊ดแบบอื่นอีกเช่น Microsoft Tag (www.gettag.mobi) ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งโค๊ดทั้งสามแบบที่กล่าวมาก็ทำหน้าที่เชื่อมโลกออนไลน์ให้เข้ากับออฟไลน์ได้ทั้งหมด
เราลองมาดูวิธีการใช้งานกันบ้างว่า หากนำ Mobile Tag เหล่านี้มาคิดในเชิงการตลาด จะช่วยอะไรให้กับสินค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ได้บ้าง เราสามารถแบบตัวอย่างออกเป็น 4 วัตถุประสงค์หลัก ๆ ได้ดังนี้ครับ
1. เพื่อการสร้างการรับรู้ของแบรนด์
Mobile Tag สามารถใช้เพื่อดึงความสนใจของผู้บริโภคซึ่งนักการตลาดสามารถใช้ Mobile Tag เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ สร้างความเข้าใจในแบรนด์ หรือแม้กระทั่งให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์กับแบรนด์แม้ว่าจะอยู่นอกสถานที่ได้ เช่นการสแกนโค๊ดเพื่อรับของรางวัลทันที เช่นการแจกตัวอย่างสินค้า หรือการแจกบัตรเข้าคอนเสิร์ตเมื่อเอาโทรศัพท์มือถือไปสแกน QR Code จากโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นต้น อีกรูปแบบหนึ่งคือการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์การเล่นเกม เช่นเอา QR Code ไปติดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมเล่นเป็นวอล์คแรลลี่ หาคำตอบต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ใน QR Code ซึ่งจะเห็นได้ต้องใช้โทรศัพท์มือถือสแกนดูเท่านั้น
2. เพื่อให้ข้อมูลมากขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ
Mobile Tag สามารถให้ข้อมูลสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจซื้อได้ เช่นมีสินค้าอยู่ชิ้นหนึ่ง แล้วมีป้าย QR Code แปะอยู่ เมื่อสแกนโค๊ดแล้วจะให้ข้อมูลการรีวิวสินค้านั้น ๆ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่จะซื้อสินค้าที่มีราคาสูงมักจะหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจค่อนข้างมาก หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใช้จุดนี้มาเล่น ณ จุดขาย หรือที่ตัวสินค้าเลย ย่อมมีโอกาสที่จะโน้มน้าวใจให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น หรือใช้เพื่อให้ตัวอย่างสินค้า เช่นหนังสือที่ถูกห่อพลาสติคไว้ไม่ให้แกะอ่าน หากมี Mobile Tag ให้สแกน เพื่ออ่านตัวอย่างก็จะทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจซื้อได้เช่นกัน
3. เพื่อก่อให้เกิด Action หรือเกิดการซื้อ
ร้านกาแฟบางแห่งมีไอเดียที่เก๋ไก๋ เนื่องจากเห็นว่าเวลาลูกค้ามาที่ร้านจะต้องต่อแถวยาว ๆ เพื่อสั่งกาแฟ ก็เลยออกไอเดียให้ผู้ซื้อคนอื่น ๆ ที่ไม่อยากต่อแถว สามารถเอาโทรศัพท์มือถือสแกน Mobile Tag เพื่อสั่งกาแฟที่ต้องการได้เลย โดยไม่ต้องต่อแถว เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การอำนวยความสะดวกเล็ก ๆ หน่อย ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดการซื้อขายได้เช่นกัน ขนาดห้างโลตัส เรายังเคยเห็นโฆษณาเลยว่า หากแถวของการชำระเงินยาวเกินกว่าเส้นเขียว ทางห้างจะเปิดบริการช่องชำระเงินเพิ่มทันที
4. เพื่อหลังจากการซื้อสินค้า
Mobile Tag สามารถช่วยสร้างความพึงพอใจในการซื้อสินค้าได้เช่นกัน โดยการให้บริการเพิ่มเติมหลังการขาย ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือการให้ข้อมูลวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เช่นวิธีการประกอบเฟอร์นิเจอร์แบบประกอบเองที่ซื้อไป โดยสามารถนำเสนอวิธีใช้เป็นวีดีโอให้ดูง่ายดายยิ่งขึ้น หรือสูตรการปรุงอาหารหากสินค้าที่ซื้อไปเป็นสินค้าที่สามารถไปปรุงเพิ่มเติมได้เป็นต้น หรือแม้กระทั่งให้ผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้ว สามารถสแกน Mobile Tag ที่ติดอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการเขียนรีวิวสินค้าได้เลยในทันที
ซึ่งโอกาสในการทำการตลาดโดยการใช้ Mobile Tag ยังมีอยู่มากมาย เพียงแค่นักการตลาดต้องลองขบคิดว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของท่านสามารถนำ Mobile Tag ไปร่วมใช้ตรงจุดไหนได้บ้าง และดูว่าสิ่งไหนในสี่หัวข้อตัวอย่างข้างต้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจของท่านได้มากที่สุดครับ
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในคอลัมน์ Connected ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2554