อ่านงบการเงินให้เป็น ▨▨ (1-14) โดย : ดร.ภาพร เอกอรรถพร
อ่านงบการเงินให้เป็น (1)
เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบหมายถึงอะไร?
“เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ Substance than Form” มีความหมายว่า รูปแบบตามกฎหมายไม่สำคัญกับการบันทึกบัญชีเท่ากับเนื้อหาทางเศรษฐกิจ นักบัญชีพร้อมจะมองข้ามรูปแบบตามกฎหมายไปหาข้อเท็จจริงทางธุรกิจทุกเมื่อ
ตัวอย่างเช่น ในการออกงบการเงิน “หน่วยงานที่เสนอรายงาน” อาจประกอบด้วยบริษัทมากกว่าหนึ่งแห่ง หากโดยเนื้อหาแล้ว บริษัทเหล่านั้นคือบริษัทเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นคนละนิติบุคคลกัน (ตามรูปแบบของกฎหมาย) ทั้งนี้ เนื่องจากกฎบัญชีกำหนดว่า “บริษัทใหญ่” ต้องนำงบการเงินของ “บริษัทย่อย” มารวมเพื่อจัดทำ “งบการเงินรวม” เมื่อบริษัทใหญ่สามารถ “ควบคุม” นโยบายการเงินและการดำเนินงานของบริษัทย่อยได้
***
อ่านงบการเงินให้เป็น (2)
●โดย : ดร.ภาพร เอกอรรถพร
ทำไมนักบัญชีจึงต้องจู้จี้กับ “งวดบัญชี” หรือ “งวดการรายงานทางการเงิน” หรือ “ความถี่ของการรายงาน”?
เพราะงวดบัญชีคือเส้นแบ่งเวลาที่จะทำให้นักบัญชีสามารถสรุปผลการดำเนินงานของบริษัทเพื่อออกงบการเงิน ลองมโนภาพถึงเส้นเวลาที่ไม่มีวันสิ้นสุด เรารู้ว่าบริษัทเริ่มต้นเมื่อไร แต่ไม่รู้ว่าบริษัทจะจบลงเมื่อไร ถ้านักบัญชีไม่กำหนด “งวดบัญชี” ไว้ นักบัญชีก็จะต้องรอให้บริษัทหมดอายุขัยก่อนที่จะสามารถรายงานผลให้นักลงทุนทราบ บริษัทบางบริษัทมีอายุเป็นร้อยปี (แล้วนักลงทุนอายุไม่ถึงร้อยอย่างเราจะรอไหวหรือ?) นักบัญชีจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกให้สามารถสรุปผลทางบัญชีเพื่อรายงานให้เจ้าของบริษัททราบเป็นระยะๆ โดยนำเวลามาแบ่งออกเป็นช่วงๆ ช่วงละเท่าๆ กัน
***
อ่านงบการเงินให้เป็น (3)
“กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม” ประกอบด้วยรายการอะไร?
“กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ” หมายถึง กำไรขาดทุนทุกประเภทที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด ดังนั้น “กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม” จึงแยกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม นั่นคือ
กลุ่มที่หนึ่ง กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จที่เกิดจากการดำเนินงานในระหว่างงวดของบริษัท กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จประเภทนี้คำนวณได้จากการนำรายได้ (จากการดำเนินงานในระหว่างงวด) มาหักค่าใช้จ่าย (ในการดำเนินงานระหว่างงวด) เพื่อหา “กำไรขาดทุนสุทธิ” ซึ่งถือเป็นกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ “หลัก”
กลุ่มที่สอง กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จที่เกิดจากการปรับมูลค่าของสินทรัพย์หรือหนี้สินตามวิธีการบัญชี ณ วันสิ้นงวด แต่กฎบัญชีไม่อนุญาตให้บริษัทนำกำไรขาดทุนเหล่านี้ไปแสดงรวมกับรายการในกลุ่มที่หนึ่ง เช่น กำไรที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ หรือกำไรจากการแปลงค่างบการเงิน กำไรขาดทุนเหล่านี้รวมเรียกว่า “กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น”
***
อ่านงบการเงินให้เป็น (4)
โดย : ดร.ภาพร เอกอรรถพร
“งบการเงินสำหรับบุคคลภายนอก” แตกต่างจาก “งบการเงินเพื่อผู้บริหาร” อย่างไร?
งบการเงินที่ออกให้บุคคลภายนอก (Financial Statements) เน้นการให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำงบการเงินนั้นไปใช้ในการตัดสินใจซื้อหุ้นหรือให้บริษัทกู้ยืมเงิน ดังนั้น งบการเงินที่ออกให้บุคคลภายนอกจึงต้องอยู่ภายใต้ “มาตรฐานการรายงานทางการเงิน” (ซึ่งรวมถึง “แม่บทการบัญชี” และ “มาตรฐานการบัญชี”) ที่ออกโดยผู้เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี นอกจากนั้น งบการเงินที่ออกให้บุคคลภายนอกยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของนักลงทุน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานกำกับดูแลอื่น เช่น กระทรวงพาณิชย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทย
ผลที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องออกงบการเงินให้แก่บุคคลภายนอกตามรูปแบบที่กำหนดโดยกฎบัญชีหรือข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้การรวมรายการ (การนำบัญชีย่อยๆ หลายบัญชีมารวมกัน) และชื่อบัญชีที่ปรากฏในงบแตกต่างไปจากรายการที่แสดงในงบการเงินเพื่อผู้บริหาร นอกจากนั้น ข้อมูลที่ไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น รายละเอียดปลีกย่อยและจำนวนเศษสตางค์ ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาแสดงให้บุคคลภายนอกทราบ
ส่วนงบการเงินเพื่อผู้บริหาร (Management Accounts) เป็นงบการเงินที่ใช้เป็นการภายในเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารและควบคุม ดังนั้น รายการที่แสดงในงบการเงินเพื่อผู้บริหารจึงอาจมีรายละเอียดหรือมีการจำแนกหมวดหมู่ที่แตกต่างไปจากงบการเงินที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป นอกจากนั้น งบการเงินเพื่อผู้บริหารไม่จำเป็นต้องแสดงหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพราะผู้บริหารทราบความเป็นไปภายในบริษัทอยู่แล้ว
เนื่องจากบริษัทใช้งบการเงินเพื่อผู้บริหารเป็นฐานในการออกงบการเงินให้กับบุคคลภายนอก ดังนั้น งบการเงินเพื่อผู้บริหารกับงบการเงินที่ออกให้บุคคลภายนอกจึงเป็นสิ่งเดียวกัน จะแตกต่างกันก็แต่รูปแบบที่นำเสนอ
****
▼อ่านงบการเงินให้เป็น (5)
ทำอย่างไรจึงจะมั่นใจว่างบการเงินที่บริษัทนำเสนอแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่เชื่อถือได้?
งบการเงินที่ออกให้บุคคลภายนอกต้องตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (คือผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติตามที่วิชาชีพกำหนด) ความเห็นของผู้สอบบัญชีจะแสดงอยู่หน้างบการเงิน (เป็นแผ่นแรกก่อนที่จะถึงงบการเงิน) เรียกว่า “รายงานของผู้สอบบัญชี”
“การตรวจสอบ” งบการเงินจะเป็นไปตาม “มาตรฐานการสอบบัญชี” ซึ่งการตรวจสอบนั้นก็เพื่อให้แน่ใจว่างบการเงินที่บริษัทออก แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานอย่าง “ถูกต้องตามควร” และเป็นไปตาม “มาตรฐานการรายงานทางการเงิน” (ซึ่งแต่เดิมรู้จักกันในชื่อ “มาตรฐานการบัญชี” แต่ในปัจจุบันมาตรฐานการรายงานทางการเงินมีความหมายที่กว้างกว่า และครอบคลุมกฎบัญชีหลายชนิด เป็นต้นว่า แม่บทการบัญชี “มาตรฐานการบัญชี” “มาตรฐานการรายงานทางการเงิน” การตีความมาตรฐานการบัญชี และการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน)
ตามปกติ รายงานของผู้สอบบัญชีจะมีสามวรรค ถ้ารายงานผู้สอบบัญชีมีมากกว่าหรือน้อยกว่าสามวรรค ผู้ใช้งบการเงินต้องพิจารณางบการเงินนั้นเป็นพิเศษ เพราะแสดงว่าผู้สอบบัญชีที่ตรวจสอบงบการเงินนั้น ได้พบอะไรบางอย่างที่ทำให้ต้องออกรายงานต่างไปจากปกติ
******
▼ อ่านงบการเงินให้เป็น (6)
โดย : ดร.ภาพร เอกอรรถพร
จริงหรือไม่ที่ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ตรวจสอบการฉ้อฉลในบริษัท?
ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ตรวจสอบว่างบการเงินที่บริษัทออกเป็นไปตามข้อกำหนดใน “มาตรฐานการรายงานทางการเงิน” หรือไม่ ผู้สอบบัญชีไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบการฉ้อฉลในบริษัท แต่ระหว่างการตรวจสอบ หากผู้สอบบัญชีตรวจพบข้อสงสัย ผู้สอบบัญชีต้อง “ตรวจสอบเพิ่มเติมจนเป็นที่พอใจ” ก่อนที่จะสามารถให้ความเห็นต่องบการเงินได้ เพราะการฉ้อฉลอาจทำให้งบการเงินของบริษัทไม่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ “ถูกต้องตามควร”
ข้อกำหนดของการสอบบัญชีกล่าวไว้ว่า ผู้สอบบัญชีไม่มีความรับผิดชอบในการป้องกันการทุจริตหรือข้อผิดพลาด แต่การตรวจสอบประจำปีอาจยับยั้งการทุจริตและข้อผิดพาดได้
****
▼ อ่านงบการเงินให้เป็น (7)
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt-equity Ratio) คืออะไร?
มื่อเราทราบว่าสินทรัพย์ทั้งสิ้นของบริษัทต้องนำมาแบ่งกันระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ถือหุ้น นักการเงินจึงสร้างอัตราส่วนขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดถึงสัดส่วนของหนี้สินต่อทุน (เรียกสั้นๆ ว่า ดีอีเรโช) โดยนำเอา “หนี้สินทั้งสิ้นหารส่วนทุนทั้งสิ้น”
ตัวอย่างเช่น 200,000/100,000 = 2:1 หมายความว่าบริษัทนั้นมีหนี้สินสองเท่าของส่วนทุน นักลงทุนดูดีอีเรโช เพื่อพิจารณาความเสี่ยงในการลงทุน ถ้าดีอีเรโชสูง ก็หมายความว่าบริษัทบริหารงานด้วยหนี้ หรือสินทรัพย์ในบริษัทเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเป็นหลัก เมื่อบริษัทได้รายได้จากการดำเนินงาน บริษัทต้องนำรายได้ดังกล่าวมาจ่ายดอกเบี้ย ถ้าหนี้สูง ดอกเบี้ยอาจสูงจนทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับผลตอบแทนต่อการลงทุนเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ดีอีเรโชยังชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ถ้าดีอีเรโชสูง โอกาสในการกู้ยืมเงินเมื่อจำเป็นอาจมีจำกัด และเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสภาพคล่องได้ และหากบริษัทเกิดปัญหาสภาพคล่อง ทางเลือกที่เหลืออยู่จะกลายเป็นการออกหุ้นทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ในการลงทุนได้ (สัดส่วนการถือหุ้นอาจลดลงถ้าไม่มีเงินเพียงพอมาซื้อหุ้นใหม่)
สำหรับเจ้าหนี้ ดีอีเรโชที่มีจำนวนสูงแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการให้บริษัทกู้ยืมเงินเพิ่มเติม เพราะหากบริษัทมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยมากๆ บริษัทอาจไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำไปบริหารงานและล้มละลายในที่สุด หากบริษัทล้มละลาย การเรียกร้องสินทรัพย์ก็เป็นไปได้ยาก เพราะต้องแบ่งกับเจ้าหนี้หลายฝ่าย เจ้าหนี้อาจไม่ได้หนี้คืนเต็มเม็ดเต็มหน่วย
***
▼ อ่านงบการเงินให้เป็น (8)
การเรียงลำดับรายการภายใต้ “สินทรัพย์” มีหลักเกณฑ์อย่างไร?
ในประเทศไทย “สินทรัพย์”จะเรียงลำดับจากรายการที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุดและแน่นอนที่สุด เช่น เงินสด เงินลงทุน ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ ไปจนถึงรายการที่ไม่อาจเปลี่ยนเป็นเงินสดแต่จะเปลี่ยนเป็นบริการแทน เช่น ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
รูปแบบการเรียงลำดับรายการในงบแสดงฐานะการเงินของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวคิดและข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ ในภาคพื้นยุโรป สินทรัพย์จะเรียงลำดับจาก “ไม่หมุนเวียน” ไปสู่ “หมุนเวียน” ในประเทศไทย สินทรัพย์หมุนเวียนจะแสดงอยู่ก่อนสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนตามรูปแบบของอเมริกัน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมาตรฐานบัญชีของประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากทางยุโรป ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจถ้ารูปแบบงบการเงินของประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
***
▼อ่านงบการเงินให้เป็น (9)
“เงินลงทุนเพื่อค้า” ต่างจาก “เงินลงทุนเผื่อขาย” อย่างไร?
“เงินลงทุนเพื่อค้า” มีไว้เพื่อการค้าจริงๆ (ชื่อก็บอกอยู่แล้ว) บริษัทบางบริษัทมีอาชีพในการค้าขายหลักทรัพย์ (หุ้นทุนหรือหุ้นกู้ที่มีสภาพคล่องจนสามารถซื้อง่ายขายได้ทันที) บริษัทจึงทำมาค้าขายหลักทรัพย์โดยการซื้อมาขายไปตลอดเวลาเพื่อตัดกำไรช่วงสั้น การทำมาค้าขายหลักทรัพย์ของบริษัทเหล่านี้มีรูปแบบชัดเจน บริษัทอาจทำการจัดกลุ่มสินทรัพย์ตามลักษณะความเสี่ยงและซื้อขายคละกันเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน หรือมีการบริหารจัดการโดยการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นระบบ
“เงินลงทุนเผื่อขาย” มีไว้ขายเพื่อเก็งกำไรเหมือนกัน (ปกติจะไม่อยู่ในลักษณะที่เป็นอาชีพ) บริษัททั่วไปมักนำเงินที่เหลือใช้ไปลงทุนระยะสั้นในหลักทรัพย์เผื่อว่า เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน บริษัทจะได้นำหลักทรัพย์ออกขายได้ทันที โดยเฉพาะเวลาที่ราคาหุ้นกำลังขึ้น เพราะบริษัทอาจได้กำไรจากการลงทุนในขณะที่รอใช้เงินมากกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารที่มักให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า
***
▼ อ่านงบการเงินให้เป็น (10)
โดย : ดร.ภาพร เอกอรรถพร
ค่าเผื่อคืออะไร?
ค่าเผื่อคือ “บัญชีหัก” หรือบัญชีสินทรัพย์ซึ่งมียอดอยู่ทางด้านเครดิต (ตามปกติสินทรัพย์จะมียอดทางด้านเดบิต) ค่าเผื่อเป็นบัญชีที่มีไว้หักจากสินทรัพย์บัญชีอื่น เช่น ค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนจะเป็นบัญชีที่นำไปหักจากบัญชีเงินลงทุน เนื่องจากราคาของเงินลงทุนได้ลดลง แต่บริษัทไม่ต้องการที่จะสูญเสียข้อมูลเดิมเกี่ยวกับเงินลงทุน จึงนำบัญชีค่าเผื่อมาหักจากบัญชีเงินลงทุนเพื่อแสดงยอดสุทธิ แทนที่จะลดจำนวนเงินลงทุนลงตรงๆ การทำอย่างนี้ทำให้เราได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
***
อ่านงบการเงินให้เป็น (11)
บัญชีปรับมูลค่าคืออะไร?
บัญชีที่จะนำมาปรับมูลค่าสินทรัพย์หรือหนี้สินให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากมูลค่าที่แสดงอยู่ภายใต้บัญชีสินทรัพย์หรือหนี้สินนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่บริษัทต้องการแสดงยอดเดิมไว้เพื่อใช้อ้างอิงในภายหน้า จึงอาศัยบัญชีปรับมูลค่ามาบวกหรือลบบัญชีสินทรัพย์หรือหนี้สิน เพื่อให้ได้ยอดสุทธิตามมูลค่าที่ควรเป็นขณะที่ออกงบการเงิน
***
อ่านงบการเงินให้เป็น (12)
เมื่อมีการขายเชื่อก็ย่อมจะมีหนี้สูญ บริษัทต้องประมาณ “หนี้สงสัยจะสูญ” ที่น่าคาดว่าจะเกิดจากลูกหนี้ที่บันทึกไว้ (ดูจากประสบการณ์ในอดีต หรืออัตราหนี้สูญที่เกิดกับอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน) บริษัทต้องเครดิต“ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ”เพื่อนำมาหักจากบัญชี “ลูกหนี้” ในงบแสดงฐานะการเงินตามเกณฑ์คงค้าง โดยไม่ต้องรอให้ลูกหนี้กลายเป็นบุคคลล้มละลายก่อน
ข้อสังเกต นักบัญชีใช้คำว่า “หนี้สงสัยจะสูญ” เมื่อทำการประมาณ “หนี้สูญ” และบันทึกบัญชี “หนี้สงสัยจะสูญ” เป็นค่าใช้จ่ายในระหว่างงวด แต่นักบัญชีใช้คำว่า “หนี้สูญ” เมื่อบริษัทได้ติดตามหนี้จนถึงที่สุดแล้วไม่ได้รับชำระหนี้
***
อ่านงบการเงินให้เป็น (13)
นักบัญชีใช้เกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) ในการบันทึกบัญชี ไม่ใช่เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) เกณฑ์คงค้างทำให้นักบัญชีต้องบันทึกบัญชีเมื่อมีรายการทางธุรกิจ “เกิดขึ้น” แทนที่จะบันทึกเมื่อมีการรับหรือจ่ายเงินสด เช่น บริษัทใช้ไฟฟ้าไปแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายค่าไฟ บริษัทต้องบันทึกบัญชีค่าไฟในงวดที่ใช้ไฟโดยการ
เดบิต ค่าไฟ (ถือเป็นบัญชีค่าใช้จ่าย)
เครดิตค่าไฟฟ้าค้างจ่าย (ถือเป็นบัญชีหนี้สิน)
สรุปว่า เกณฑ์คงค้างทำให้นักบัญชีต้องบันทึก “รายได้” และ “ค่าใช้จ่าย” ในขณะเดียวกับที่บันทึก “สินทรัพย์” และ “หนี้สิน” ในงวดที่ “เกิดขึ้น” ไม่ใช่งวดที่มีการชำระเงิน เพื่อให้สามารถวัดผลกำไรขาดทุนและฐานะการเงินที่แท้จริงของบริษัท
คำว่า “เกิดขึ้น” ในทางบัญชี มีความหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น รายได้ “เกิดขึ้น” เมื่อกระบวนการก่อให้เกิดรายได้เสร็จสิ้นลง และค่าใช้จ่าย “เกิดขึ้น” เมื่อบริษัทได้รับประโยชน์จากค่าใช้จ่ายนั้น หรือค่าใช้จ่ายนั้นหมดประโยชน์ต่อบริษัทแล้ว
***
อ่านงบการเงินให้เป็น (14)
โดย : ดร.ภาพร เอกอรรถพร
รายการระหว่างบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันบอกอะไรแก่นักลงทุน?
รายการระหว่างบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน (เรียกสั้นๆ ว่า “รายการระหว่างกัน”) เช่น เงินให้กู้แก่กรรมการ เงินให้กู้แก่บริษัทในเครือ และลูกหนี้หรือเจ้าหนี้การค้ากับบริษัทในเครือ เป็นรายการที่นักลงทุนต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากรายการเหล่านี้เกิดขึ้นกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทำให้บริษัทสามารถ “สร้าง” รายการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องพึ่งบุคคลที่สาม เช่น ถ้าบริษัทเรียก “ค่าบริหารจัดการ (Management Fee)” จากบริษัทในเครือและบันทึกเป็นรายได้ รายได้ดังกล่าวอาจไม่สะท้อน “ความสามารถในการดำเนินงาน” ของบริษัทอย่างแท้จริง เนื่องจากบริษัทสามารถสั่งให้บริษัทในเครือจ่ายค่าบริหารจัดการเมื่อไรและเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรพิจารณารายการระหว่างกันเป็นพิเศษก่อนตัดสินใจลงทุน
▼▲ขอบคุณพิเศษ นสพ กรุงเทพออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น