วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การสร้างแบรนด์ by Wiboon Joong

ในทุกวันนี้นักธุรกิจสมัยใหม่ส่วนใหญ่ มุ่งประเด็นใน การสร้างแบรนด์ ของสินค้าไม่ว่าในประเทศ หรือต่างประเทศ และกำลังขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังและเป็นระบบ มากกว่าเพียงแค่การตลาดแบบเดิมๆ 

วิธีการสร้างแบรนด์ ถ้าคุยกันตามทฤษฎี อาจจะต้องให้ไปอ่านหนังสือที่มีอยู่ตามท้องตลาด แต่สำหรับผมนั้น การสร้างแบรนด์ มีหลักใหญ่ๆ อยู่ไม่กี่อย่าง ดังนี้...

1. สร้างสัญลักษณ์ตัวแทน สินค้า บริการ สถานที่ คน องค์กร หรือ แม้นแต่ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นชื่อ สัญลักษณ์ที่เป็น Logo คำพูดกินใจสั้นๆ หรือแม้นกระทั่งสี และ การรับสัมผัสต่างๆ โดยสัญลักษณ์ตัวแทน สิ่งเหล่านี้ต้องจดลิขสิทธิ์เพื่อให้มีผลทางกฎหมายบังคับตั้งแต่เนิ่นๆ

คนเรานั้น จะจดจำภาพได้ดีกว่าตัวอักษร แต่สมองเราก็สามารถแปลตัวอักษรให้เกิดภาพและความรู้สึกได้ดีเช่นกัน ดังนั้น การที่เราสร้างให้ภาพหรือ Logo แทนสินค้าหรือบริการ นั่นหมายถึง เรากำลังสร้างตัวแทนเพื่อบ่งบอกถึงลักษณะของสินค้าที่เรามีอยู่ หรือ แม้นแต่ความรู้สึกที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับ ยิ่งเรามี สโลแกน ที่ทำให้ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายมีความรู้สึกตามความเป็นจริง กับ สินค้าหรือบริการที่เราให้ได้ด้วยนั้น จะทำให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถจดจำแบรนด์ของเราได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น เห็นโลโก้ของ สวนสยาม ที่มีสไลเดอร์ มีคลื่นสีฟ้า ที่แตกต่างจากสระว่ายน้ำทั่วไป และยิ่งมี สโลแกนที่ว่า ทะเลกรุงเทพฯ ยิ่งทำให้ความรู้สึกที่เคยได้ไปเที่ยวที่สวนสยาม เกิดขึ้นในใจของเราได้มาก

เวลาเราสร้างสัญลักษณ์ตัวสินค้าหรือบริการแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การนำไปจดทะเบียน ไม่ว่า คุณจะไปจดก่อน หรือ หลังเริ่มใช้งานก็ตาม แต่อย่าได้รอให้แบรนด์ของเรานั้น ได้รับความนิยมก่อนค่อยจด ไม่อย่างนั้น คุณอาจจะต้องเสียแบรนด์ หรือ สัญลักษณ์ของคุณไปชั่วชีวิต ทั้งๆที่เราสร้างมันกับมือก็ตาม...

2. สร้างคุณค่าความประทับใจให้กับสัญลักษณ์ ควรจะกำหนดเป้าหมายของแบรนด์ว่า เมื่อเห็นแล้วคิดถึงอะไร

สิ่งนี้จะเน้นถึงความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญกับการตีความกับสัญลักษณ์ของเรา สินค้าและบริการจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างให้แบรนด์นั้นส่งผลกับความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดี บางแบรนด์ มี Logo ที่ไม่สวยเท่าไหร่ เรียบง่าย แต่ทำให้รู้สึกว่า เป็นสินค้าคุณภาพ อย่างเช่น American Standard ทำให้เรารู้สึกว่า เป็นมาตรฐานของอเมริกา และ สินค้าของเขาก็ได้มาตรฐาน คุณภาพดี ซึ่งส่งผลให้กับ แบรนด์ได้อย่างยอดเยี่ยม อย่างนี้เป็นต้น...

3. ทำการตลาดสินค้าโดยผ่านแบรนด์ แต่ต้องมีหลักการทำการตลาด เพื่อสนับสนุน แบรนด์ อย่างเช่น คุณภาพสินค้า ราคาของสินค้า ช่องทางของสินค้า หรือแม้นแต่ ความรู้สึกเป็นคนสำคัญที่มีสินค้านั้นๆ

คุณค่าทางด้านจิตใจของกลุ่มเป้าหมายนั้น มีค่ายิ่งสำหรับแบรนด์ ดังนั้น การทำการตลาดทุกครั้ง ต้องนึกถึงแบรนด์ด้วยว่า เรากำลังสร้างภาพลักษณ์ให้กับ สินค้าหรือบริการนั้น ได้ตรงกับความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ หรือว่า เราสร้างให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ในสิ่งที่เราอยากให้เขารับรู้ หรือ รู้สึกอย่างที่ต้องการได้หรือไม่ อย่างเช่น ปากการาคาแพงยี่ห้อต่างๆ ก็จะใช้กลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ให้แตกต่างออกไป การโฆษณา จะจับกับสื่อที่กลุ่มระดับบนเป็นผู้บริโภค อย่างเช่น หนังสือบนเครื่องบิน สนามบิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ความรู้สึกที่ดี และยิ่ง กลุ่มคนระดับสูงใช้มากเท่าใด ความรู้สึกที่ได้มาครอบครองก็จะทำให้รู้สึกว่า ตนนั้นเป็นบุคคลพิเศษกว่าคนอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้จากปากกาบนกระเป๋าเสื้อของผู้บริหารเป็นต้น ซึ่งถ้าคุณรู้ว่าต้นทุนการผลิตนั้นราคาเท่าใด แล้ว ราคาที่ขายกันนั้นราคาเท่าใด คุณจะบอกได้เลยว่า มูลค่าของคนสำคัญนั้นมีราคาแพงมากๆจริงๆ กับสินค้าที่ส่งเสริมทางด้านจิตใจอย่างนี้...

4. ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางที่ดี ในตำแหน่งที่ดีเหมาะสมที่สุดกับกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อแบรนด์ออกสู่ตลาด ย่อมหนีไม่พ้นกับการสื่อสารให้ตรงกับแบรนด์ ต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงการรับประกัน หรือ สัญญาที่ให้ไว้กับแบรนด์ ว่า กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้านั้นจะได้รับตามที่แบรนด์ได้สัญญาทางจิตใจ หรือ แม้นแต่คำกล่าวอ้างต่างๆ เพื่อเสริมให้ความรู้สึกที่มีต่อแบรนด์นั้น มีความรู้สึกที่แนบแน่นมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น หากโฆษณาไปว่า "ราคาที่ถูกกว่า..." ก็ต้องพยายามทำให้คำเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมา หากไม่สามารถทำได้ ก็จะทำให้ความรู้สึกที่มีต่อแบรนด์นั้นๆ มีความรู้สึกที่ลดน้อยค่าลงไปเรื่อยๆ ตามลำดับ จนไม่มีใครเชื่อกับภาพลักษณ์ก็เป็นได้... แต่ที่เหนื่อยที่สุด ก็คือ แบรนด์ที่ใช้กับการบริการ เพราะ แบรนด์นั้น จะฝังความรู้สีกส่วนใหญ่ลงไปกับ แบรนด์ ดีหรือไม่ดี จะมีการบอกต่ออย่างรวดเร็ว อย่างเช่น งานบริการนวดสมุนไพร ที่เป็นชื่อของดารา ก็ทำให้รู้สึกว่า เมื่อทำการนวดอบสมุนไพรของแบรนด์นั้นแล้ว จะทำให้ผิวขาวนวล ผ่อง ซึ่งมันก็เป็นเพียงความรู้สึกทางอ้อม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น ค่าลิขสิทธิ์สูงขึ้นมีการลดคุณภาพลง ทำให้มีผลทางตรงกับแบรนด์เช่นกันว่า ทำให้ภาพลักษณ์ผิดไป กลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนไป 

5. ตอกย้ำความรู้สึกที่ดี ให้กับแบรนด์ สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นคำสัญญาที่ให้ บุคคลที่ดีเยี่ยม ภาพลักษณ์ หรือ แม้นแต่หัวใจของธุรกิจก็ตาม

การสื่อสาร หรือ โฆษณาประชาสัมพันธ์มีผลกับการตอกย้ำความรู้สึกของแบรนด์ทั้งสิ้น สินค้าหรือบริการดีๆมากมาย ลงทุนสร้างชื่อเสียงให้กับสินค้าและบริการไปด้วยเงินมหาศาล แต่ก็ต้องเงียบเหงาไปเมื่อเวลาผ่านไปมากขึ้น ความรู้สึกที่เคยรู้สึกดีก็ลดลง ซึ่งอาจจะต้องเสียเงินเพื่อสร้างชื่อเสียงกลับขึ้นมาใหม่ หรือ ต้องหาช่องทางใหม่ๆ อันเนื่องจากไม่มีการต่อเนื่องการตอกย้ำความรู้สีกที่มีต่อแบรนด์นั้นๆ ดังนั้น การสร้างชื่ออาจจะยาก แต่การรักษาชื่อเสียง และ ความรู้สึกที่มีต่อแบรนด์นั้นๆ ยากกว่า ซึ่งต้องอาศัยเงินและ ปัจจัยต่างๆเป็นองค์ประกอบอย่างมาก

6. ตรวจวัดความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายกับแบรนด์ที่เราสร้างขึ้น เพื่อทำการบริหารแบรนด์ได้ตรงกับความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายต่อไป

การจะตอกย้ำความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายให้ถูกจุดนั้น เราควรจะศึกษาพฤติกรรม และความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายที่มีกับแบรนด์นั้นๆ ด้วย อย่าใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นตัวตัดสินว่า คนอื่นคิดอย่างไร เพราะว่า ความรู้สึกของเจ้าของกิจการมักจะเข้าข้างสินค้าและบริการของตนเองอยู่เสมอ ดังนั้น การตรวจวัดความรู้สึกต่างๆจึงควรใช้งานวิจัย เพื่อทดสอบความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายว่ามีความรู้สึกเช่นใดกับแบรนด์ของเราจริงๆ อย่างเช่น ร้านสะเต๊กชื่อดังที่ขาย เนื้อย่างเป็นหลัก เมื่อทำการวิจัยแบรนด์แล้วพบว่า กลุ่มเป้าหมายไม่ได้ชื่นชมกับสินค้าหลักของตน แต่กลับไปชื่นชอบ สลัดบาร์ที่ตักได้ไม่จำกัด ซึ่งต้องเน้นการตลาดไปอีกทาง หรือ เปลี่ยนทัศนคติกับแบรนด์ไปอีกทาง เพื่อรองรับกับความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายเป็นต้น...

7. เมื่อแบรนด์อยู่ในใจกลุ่มเป้าหมาย ควรจะ สร้างส่วนขยายของแบรนด์ เพิ่มเพื่อสร้างความรู้สึกใหม่ๆให้กับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้มีความรู้สึกที่ไม่จำเจกับแบรนด์เดิมๆ หรือ ภาพลักษณ์เดิมๆ และ ต้องตรวจวัดความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายกับ ส่วนขยายของแบรนด์ว่า มีผลกับกลุ่มเป้าหมายมากน้อยเพียงใด

แบรนด์บางแบรนด์จะกลายเป็นคุณลักษณะหลักๆของสินค้า หรือ บ่งบอกถึง บริษัทฯ ไป ดังนั้น การสร้างส่วนขยายของแบรนด์ จึงจำเป็นต้องมีเพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทางจิตใจอีกมุมหนึ่ง หรือ เน้นในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างเช่น TOYOTA จะนึกถึงรถยนต์ และ รถกระบะ ทันที แต่เวลาพุดถึง TOYOTA CAMRY ก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นรถเก๋งที่ใหญ่กว่า TOYOTA CORONA หรือใกล้เคียงกัน และจะรู้สึกว่า TOYOTA COROLLA เล็กกว่า แต่ก็ใหญ่กว่า TOYOTA VIOS แต่ถ้าพูดถึง TOYOTA VEGO ก็จะกลายเป็นรถกระบะไป ซึ่งชื่อที่มาเสริมเหล่านี้แหละคือชื่อส่วนขยายของแบรนด์ โดยตัวมันเองก็อาจจะกลายมาเป็นแบรนด์ได้เองได้ด้วย...

8. ป้องกันไม่ให้แบรนด์ มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดี และ ปรับปรุง ให้แบรนด์มีการตอกย้ำคุณค่าในรูปแบบใหม่ๆอยู่เสมอ ใช้การตลาดในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ทันสมัย

สินค้าบางสินค้ากว่าจะสร้างแบรนด์มาได้ใช้เวลานานหลายปี แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่ผันผวน ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้านั้น จะเปลี่ยนแปลงไปในทันที ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้มีให้เห็นมากมาย คนเราจะจดจำสิ่งที่ไม่ดีได้รวดเร็ว กว่าการจดจำในสิ่งที่ดีๆ ดังนั้น เมื่อมีเหตุเกิดขี้นกับแบรนด์ ต้องแก้เกมส์อย่างรวดเร็ว แต่หากไม่มีเรื่องอะไรมากระทบกับแบรนด์ ก็ต้องปรับปรุงและตอกย้ำแบรนด์อยู่เป็นประจำ เพื่อให้เขารู้สึกว่า แบรนด์นี้ทันสมัย และ เป็นสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายควรที่จะหาซื้อไว้

9. เมื่อมีสินค้าใหม่ บริการใหม่ ต้องพยายามทำให้สินค้าใหม่ หรือ บริการใหม่นั้น มีความรู้สึก หรือ สามารถผสานความรู้สึกที่กลมกลืนกับ แบรนด์เดิมให้ได้

เมื่อมีสินค้าใหม่ๆ หรือ บริการใหม่ๆ และ ยังใช้แบรนด์เดิมๆ ต้องพยายามผสมผสานความรู้สึกเดิมๆของลูกค้า กับคุณสมบัติของสินค้าใหม่ หรือ บริการใหม่ ให้มีความรู้สึกที่ใกล้เคียงกัน อย่าแตกต่างกันมาก ซึ่งหากจะต้องการสร้างให้แตกต่างกัน ก็ควรสร้างเป็นแบรนด์ใหม่ไปเลยเพื่อใช้ในการขยายตลาดอื่นๆไปได้อีก...

10. นำแบรนด์เข้าสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือ ตลาดใหม่ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายใหม่ รู้จัก โดยใช้ฐานเก่าเป็นตัวสนับสนุน

แบรนด์ใดๆ ย่อมมีกลุ่มเป้าหมายของตนเอง แต่ในบางครั้ง กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์อาจจะสามารถขยายออกไปได้ อย่างเช่น การขยายออกสู่ต่างประเทศ เป็นต้น อย่างเช่น กระทิงแดง หรือ วัวแดง ก็ขยายกลุ่มเป้าหมายของตนเองออกไป ไปสุ่ตลาดใหม่ แต่ก็ยังมีตลาดในเมืองไทย และไม่ได้ทิ้งลูกค้าเก่าเพราะเป็นฐานลูกค้าที่ดี และ เงินส่วนใหญ่ก็มาจากลุกค้าในเมืองไทย ตัวอย่างของการทอดทิ้งฐานลูกค้าเก่า แล้วต้องการไปหาฐานลูกค้าใหม่ โดยไม่ใยดีกับฐานลูกค้าเก่า ก็มีให้เห็น อย่างเช่น กาแฟในปั๊ม เป็นต้น...

การสร้างแบรด์ที่ผมกล่าวมานี้ เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่คุณ แบ่งกัน ถามความคิดเห็นผมในบล๊อกเท่านั้น มันอาจจะไม่ตรงกับทฤษฎี แต่ผมก็อยากจะอธิบายแค่ความรู้สึกถึงวิธีการสร้างแบรนด์ที่มีอยู่ในหัวผมในตอนนี้เท่านั้น... 

Create Date : 14 กันยายน 2548
Last Update : 14 กันยายน 2548 21:38:46
ที่มา  : 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=wbj&month=09-2005&date=14&group=8&gblog=14

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น